รายการ ใบตองแห้งOnair ประจำวันที่ 22 เมษายน 2562
สังคมไทยมักเจ็บใจกับ “ค่าโง่” โวยวายประเทศเสียหาย เอกชนชนะคดีบ้างก็ไม่ได้ หลายกรณีก็ไม่พอใจคำพิพากษาของศาล โดยไม่เข้าใจข้อจำกัด ตามกฎหมายอนุญาโตตุลาการ
ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ให้บริษัทโฮปเวลล์ชนะคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ รัฐต้องชดใช้ 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ซึ่งมาจากการบอกเลิกสัญญาในปี 2540 และ 2541 โดยที่บริษัทแย้งว่า การรถไฟไม่ส่งมอบที่ดินตามข้อตกลง และขอค่าเสียหายตามสัดส่วนที่ลงทุน
การมีคำสั่งชดใช้ 11,888 ล้านจากที่โฮปเวลล์เรียกร้อง 5.6 หมื่นล้านนั้น สมเหตุสมผลตามที่ตกลงทำสัญญากันไว้ ศาลจึงเพิกถอนชี้ขาดอนุญาโตตุลาการไม่ได้ ส่วนที่เคยกล่าวหากันว่ามีการทุจริตในตอนอนุมัติโครงการนี้ ก็ไม่เคยมีใครพิสูจน์และไม่ได้ใช้เป็นเหตุยกเลิกสัญญา
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 เมษายน 2562 เว็บไซต์ศาลปกครอง เปิดเผยว่า ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางให้บังคับคดี ให้บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ชนะคดีตาม คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้ภาครัฐจ่าย รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาท ที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด
"พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 โดยให้ผู้ร้องทั้งสองปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้คัดค้าน"
สำหรับโครงการถนนและทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2533 ผู้ชนะการประมูลคือบริษัท โฮปเวลล์โฮลดิ้ง จากฮ่องกง สัญญาสัมปทาน 30 ปี บริษัทโฮปเวลล์จะเป็นผู้ลงทุนออกแบบเองทั้งหมด วงเงินลงทุน 8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี
แต่การก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ โดยบริษัทโฮปเวลล์ อ้างเหตุผลเนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ส่งมอบที่ดินให้ได้ตามข้อตกลง และบริษัทขาดสภาพคล่องทางการเงินเเละปัญหาเศรษฐกิจหลายด้านทำให้โครงการต้องล้มเลิกโครงการ แม้จะเริ่มทำต่อในหลายรัฐบาลก่อนจะหยุดการก่อสร้างในช่วงปี 2540
โดยสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีมติคณะรัฐมนตรี 23 ธันวาคม 2540 ให้ความเห็นชอบบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังจากบริษัทโฮปเวลล์หยุดการก่อสร้างอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540
ต่อมาโครงการโฮปเวลล์สิ้นสุดลงในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย สมัยที่ 2 หลังก่อสร้างมา 7 ปี มีความคืบหน้าเพียง 13.77 % ขณะที่แผนงานกำหนดว่าควรจะมีความคืบหน้า 89.75% กระทรวงคมนาคมได้บอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541 โดยสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ภายหลังจากบอกเลิกสัญญา การรถไฟแห่งประเทศไทยถือว่าโครงสร้างทุกอย่างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ และได้มีความพยายามนำโครงสร้างที่สร้างเสร็จแล้วมาพัฒนาต่อ จากผลการศึกษาสรุปว่าจะนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต
ด้านบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการ เป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท
ปี 2551 คณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ คืนเงินชดเชยแก่บริษัท โฮปเวลล์ 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โฮปเวลล์ จากการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญา โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557
ศาลปกครอง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการวันที่ 30 กันยายน 2551 และ 15 ตุลาคม 2551 และให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาแก่โฮปเวลล์
ขณะที่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดได้กลับคำพิพากษาให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ่ายคืนเงินค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ แก่บริษัทโฮปเวลล์รวม 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
สำหรับตอม่อโฮปเวลล์ เริ่มทยอยรื้อตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 โดยบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ผู้รับจ้างโครงสร้างโยธาโครงการรถไฟสายสีแดง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ปัจจุบันเส้นทางส่วนใหญ่ของโฮปเวลล์เป็นโครงการรถไฟยกระดับสายสีแดง