หนึ่งในนวัตกรรมที่คาดว่าจะเป็นอนาคตของโลกก็คือหุ่นยนต์ แต่อาเซียนกลับถูกมองว่าเป็นภูมิภาคที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกหุ่นยนต์แย่งงานมากที่สุด
รายงานพยากรณ์อนาคตหุ่นยนต์โลกประจำปี 2017 หรือ Worldwide Robotics 2017 Predictions ระบุว่าภายในปี 2019 35% ของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สาธารณูปโภค และสุขภาพ จะนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการให้บริการ ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษก็ประเมินว่าคน 95 ล้านคนจะถูกหุ่นยนต์แย่งงานไปภายใน 10-20 ปีข้างหน้า แต่ที่น่ากังวลที่สุด ก็คือองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ระบุว่างานประจำ 56% ในฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า หมายความว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคามโดยหุ่นยนต์มากที่สุดในโลก
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหลายประเทศในอาเซียนพึ่งพิงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก เช่นสิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า และรองเท้า ซึ่งงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้กำลังจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ ที่ทำงานได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าแรงงานไร้ฝีมือ ILO ยังเตือนด้วยว่า ประเทศที่คิดจะแข่งขันกับประเทศอื่นด้วยแรงงานราคาถูก จำต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธได้แล้ว เนื่องจากแรงงานราคาถูกจะถูกแทนที่ด้วยหุนยนต์เป็นกลุ่มแรก ทำให้เกิดปัญหาว่างงาน รวมถึงขาดศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนในระยะยาว
กุญแจสำคัญของการปรับตัวรับอุตสาหกรรมยุคหุ่นยนต์ครองเมือง ก็คือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นแรงงานทักษะสูง ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถแทนที่ได้ ตัวอย่างของประเทศในอาเซียนที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการปฏิวัติโฉมหน้าอุตสหกรรมเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์ ก็คือสิงคโปร์และเวียดนาม เนื่องจากทั้งสองประเทศยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ทัดเทียมกับมาตรฐานตะวันตกได้แล้ว และฝึกประชาชนรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้านเทคโนโลยี การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และทักษะ STEM หรือความสามารถด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงความสามารถในการเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งล้วนเป็นทักษะจำเป็นในโลกยุค 4.0
ในขณะเดียวกัน เมียนมาและลาวเป็น 2 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคหุ่นยนต์น้อยที่สุดในอาเซียน เนื่องจากการพัฒนาอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ทั่วถึง ทำให้แรงงานยังเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ไม่สามารถนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้าไปแทนที่ได้ในอนาคตอันใกล้
เพราะฉะนั้น ประเทศที่ต้องปรับตัวอย่างมากที่สุด และเสี่ยงต่อการถูกหุ่นยนต์แย่งงานมากที่สุด ก็คือประเทศที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการมีเทคโนโลยีก้าวหน้า แต่ยังมีทรัพยากรบุคคลที่ไม่พร้อม นั่นก็คือไทย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ภารกิจแรกของรัฐบาลในประเทศเหล่านี้ ก็คือการปฏิวัติการศึกษา ทำให้เด็กมีทักษะ STEM เพราะทักษะเหล่านี้จะกำหนดอนาคตของแรงงานในประเทศ ว่าจะมีศักยภาพรองรับเศรษฐกิจยุค 4.0 หรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลล้มเหลว ก็อาจต้องเผชิญกับวิกฤตคนตกงาน และขาดแคลนแรงงานป้อนภาคธุรกิจในขณะเดียวกัน เนื่องจากแรงงานที่มีอยู่ในประเทศไม่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคตได้