หญิงชาวอุซเบกิสถานให้สัมภาษณ์ถึงช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตหลังเธอถูกหลอกให้มาค้าบริการในกรุงเทพฯ แต่ด้วยการช่วยเหลือจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทำให้เธอสามารถกลับไปหาครอบครัวและใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้ แต่หลายฝ่ายยังคงวิตกว่ากฎหมายไทยจะต้องมีความเข้มงวดมากขึ้นจึงจะจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์ในไทยได้
สำนักข่าวอัลจาซีราเปิดเผยรายงานบทสัมภาษณ์พิเศษที่ได้ไปพูดคุยกับนางอุมิดา (นามสมมติ) เธอถูกชักชวนโดยหญิงชาวอุซเบกิสถานคนหนึ่งให้เดินทางมาทำงานในกรุงเทพฯ ขณะที่เธออายุเพียง 28 ปี โดยทราบหลังจากเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ แล้วว่างานที่เธอต้องทำก็คือการค้าบริการ ซึ่งนายจ้างได้ทำลายเอกสารส่วนตัวของเธอทั้งหมดทิ้งแล้วบังคับให้ค้าบริการ โดยเธอได้รับส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นางอุมิดาทนทรมานทำงานค้าบริการอยู่หลายเดือนก่อนจะได้รับความช่วยเหลือจากลูกค้าคนหนึ่งของเธอช่วยดำเนินการและออกค่าบัตรโดยสารกลับบ้านให้ รวมถึงการออกเอกสารทางการจากสถานกงสุลอุซเบกิสถานในไทยเพื่อการออกนอกประเทศ แต่สุดท้ายก็โดนนายจ้างจับได้ที่สนามบินและลากตัวกลับมาค้าบริการอีก 5 เดือน
นางอุมิดาถูกขังไว้ในห้องเช่า ไม่มีน้ำและอาหาร เวลาเดียวที่เธอจะได้กินข้าวคือระหว่างที่แขกพาเธอออกไปเที่ยวก่อนที่จะจบลงด้วยการค้าบริการทางเพศ อย่างไรก็ตาม เธอได้ไปเจอนางเอมิลี ชาล์ค เจ้าหน้าที่ NGO ที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งทำงานให้กับองค์กรไนท์ไลท์อินเตอร์เนชันแนลโดยบังเอิญ ซึ่งนางชาล์คได้นัดเจออุมิดาอีกโรงแรมหนึ่งเพื่อตบตานายจ้างว่าอุมิดากำลังจะไปพบลูกค้า สุดท้ายนางชาล์คพาอุมิดาไปซ่อนตัวที่เซฟเฮ้าส์ก่อนจะดำเนินเรื่องส่งตัวอุมิดากลับบ้านเกิดอีกครั้ง พร้อมทั้งแจ้งเรื่องดังกล่าวไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ท้ายที่สุดขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มนี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรวบตัวได้ แต่สุดท้ายได้รับโทษเพียงการจ่ายค่าปรับเท่านั้นและไม่มีการดำเนินคดีอะไรทั้งสิ้น
ด้านนางแอนนี ดีเซลเบิร์ก CEO และผู้ก่อตั้งองค์กรไนท์ไลท์อินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่าทางการไทยยังไม่เข้มงวดด้านการดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์เท่าที่ควร แม้ปัจจุบันเราจะสามารถพบเห็นหญิงค้าบริการได้ตามท้องถนนของกรุงเทพฯ ก็ตาม ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่สมัครใจเพราะไม่มีทางเลือก กับกลุ่มที่ถูกบังคับให้มาค้าบริการ อย่างไรก็ตาม การพิพากษาโทษผู้ต้องหาในคดีค้ามนุษย์ที่เกี่ยวพันกับชาวโรฮิงญาในไทยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งของไทย เพราะเป็นการตัดสินลงโทษในคดีค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งมีผู้ถูกตัดสินความผิดมากถึง 62 คน และองค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ระบุว่า การตัดสินคดีค้ามนุษย์ในครั้งนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการกำจัดขบวนการค้ามนุษย์ เพราะยังมีผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้อีกเป็นจำนวนมากที่รัฐบาลไทยจะต้องสะสาง