สื่อของฟิลิปปินส์รายงานเบาะแสของสถาบันที่แอบอ้างตัวเป็นมหาวิทยาลัยเปิดของสหประชาชาติในประเทศไทย ซึ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายครูต่างชาติในไทยที่สนใจหาความรู้เพิ่มเติมในระยะสั้น แต่สถานทูตเตือนว่าอย่าหลงเชื่อสถาบันที่ไม่ได้รับการรับรองจากทางการ
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สถานทูตฟิลิปปินส์ในประเทศไทยออกประกาศเตือนชาวฟิลิปปินส์ที่อยู่ในไทย ไม่ให้หลงเชื่อการแอบอ้างเปิดสอนหลักสูตรจากสถาบันที่ไม่ได้รับการรับรองวิทยฐานะจากทางการ หลังจากที่ดิอินไควเรอร์และเว็บไซต์พินอยไทยโย สื่อของฟิลิปปินส์ สอบถามสถานทูตเรื่องสถาบันแห่งหนึ่งซึ่งอ้างตัวเป็นมหาวิทยาลัยเปิดของสหประชาชาติประจำกรุงเทพฯ โดยประกาศของสถานทูตไม่ได้ระบุชื่อสถาบัน แต่สื่อของฟิลิปปินส์ทั้งสองแห่งรายงานตรงกันว่าสถาบันดังกล่าวมีชื่อว่า "มหาวิทยาลัยเปิดนานาชาติด้านมนุษยธรรม สุขภาพ วิทยาศาสตร์และสันติภาพสากลของสหประชาชาติ" (United Nations International Open University for International Humanity, Health, Science & Peace) แต่หน่วยงานสหประชาชาติในไทยระบุว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันดังกล่าว
เว็บไซต์ดิอินไควเรอร์รายงานว่า มหาวิทยาลัยดังกล่าวได้ประกาศรับนักศึกษาผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก โดยเปิดอบรมหลักสูตรต่างๆ ทั้งด้านการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพ และสิทธิมนุษยชน โดยมีครูอย่างน้อย 176 คนจากหลายประเทศเข้าพิธีรับประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่อาคารแห่งหนึ่งย่านพระราม 4 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนผู้มอบประกาศนียบัตร คือ นายกิออน กูเน็ต ซึ่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัย ส่วนนายเอ็ดการ์ บี. เอเลเกว็น เป็นผู้ประสานงานด้านวิชาการในภูมิภาคอินโดจีน โดยผู้อบรมใช้เวลา 1 วันก็ได้ใบประกาศนียบัตรเลย
ดิอินไควเรอร์รายงานว่า นายกิออน กูเน็ต มีชื่อจริงว่า กิบสัน กีโบน มาจากเมืองบูทวนของฟิลิปปินส์ เคยเป็นนักศึกษาแพทย์ในเซบู แต่ลาออก และเคยพยายามลงสมัคร สว.ฟิลิปปินส์ในปี 2016 ส่วนนายเอ็ดการ์ บี. เอเลเกว็น มาจากเมืองดาเบา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยเซนต์ปอลในกรุงมะนิลา ปัจจุบันเป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนสอนภาษาสารสาสน์วิเทศร่มเกล้า
กองบรรณาธิการวอยซ์ทีวีติดต่อไปยังโรงเรียนสารสาสน์วิเทศร่มเกล้า แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ และเมื่อติดต่อไปยังนายเอเลเกว็น ก็ได้รับคำตอบว่า เขาเป็นเพียงอาสาสมัครช่วยเหลือในการจัดงานมอบประกาศนียบัตรเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนของสถาบัน อย่างไรก็ตาม นายเอเลเกว็นไม่ตอบคำถามที่ว่า สถาบันนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยูเอ็นจริงหรือไม่
.ส่วนเว็บไซต์พินอยไทยโยระบุว่า ปัจจุบันมีชาวฟิลิปปินส์อาศัยอยู่ในไทยประมาณ 17,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานเป็นครู พี่เลี้ยงเด็ก นักร้อง นักดนตรี และวิศวกร นับตั้งแต่ปี 2016 กระทรวงศึกษาธิการของฟิลิปปินส์มีมาตรการเข้มงวดในการให้ใบประกอบวิชาชีพครูกับคนที่ไม่เคยสอนมาก่อน ส่งผลให้ชาวฟิลิปปินส์หลายคนเสี่ยงที่จะตกงาน สนใจหลักสูตรที่สั้นและราคาไม่แพงของสถาบัน ส่วนมหาวิทยาลัยที่เป็นข่าวในครั้งนี้ มีการเปิดสอนหลักสูตรต่างๆ โดยเก็บค่าเล่าเรียนในราคาไม่กี่พันบาท โดยเผยแพร่ข้อมูลหลักสูตรผ่านทางเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า UN Open University ซึ่งให้ข้อมูลว่ามีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ ทั้งยังใช้เครื่องหมายของยูเอ็นและองค์การอนามัยโลกในการนำเสนอและประชาสัมพันธ์หลายครั้ง