นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยแผนการตัดลดภาษีครั้งใหญ่ทั้งระบบ โดยยืนยันว่านโยบายภาษีใหม่นี้ จะทำให้คนชั้นกลางได้ประโยชน์ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ เรามาดูกันว่าในแผนภาษีใหม่นี้ ใครได้ลดและใครต้องเสียภาษีเพิ่มบ้าง
โครงสร้างภาษีใหม่ของรัฐบาลทรัมป์ จะปรับลดขั้นภาษีจากเดิม 4 ขั้น 10-40 % เป็น 3 ขั้น 12 / 25 /35 % โดยมุ่งเน้นทั้งการเพิ่มผลประโยชน์ทางภาษีสำหรัยภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป สำหรับธุรกิจ จะมีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35 เหลือ 20% รวมถึงปรับอัตราภาษีรายได้จากต่างประเทศ และบริษัทที่เป็น Pass-through หรือบริหารงานแบบไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ให้ผู้ถือหุ้นจ่ายภาษีตามรายได้จริงในฐานะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเสียภาษีสูงสุดไม่เกิน 25%
สำหรับคนทั่วไป ข้อแตกต่างที่สำคัญของภาษีใหม่ คือการเพิ่มอัตราลดหย่อนภาษีจากจำนวนสมาชิกในครอบครัว จากสูงสุด 12,000 เป็น 24,000 ดอลลาร์ รวมถึงเพิ่มอัตราลดหย่อนภาษีจากจำนวนบุตร และยังเพิ่มประเภทการลดหย่อนภาษีให้ผู้ที่อุปการะคนอื่น แต่ไม่ใช่บุตร นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกภาษีมรดกอีกด้วย
นี่ยังเป็นเพียงพิมพ์เขียวที่เสนอโดยพรรครีพับลิกัน แต่จะต้องมีการต่อรองและลงรายละเอียดอีกนาน โดยเฉพาะการตัดลดผลประโยชน์ทางภาษีเพื่อชดเชยรายได้รัฐที่จะหายไปอย่างมหาศาลจากการลดภาษีในครั้งนี้ ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยว่าผลประโยชน์ที่จะถูกตัดไปจะมีอะไรบ้าง รวมถึงรายละเอียดที่ว่าผู้มีรายได้เท่าไหร่จะต้องเสียภาษีในระดับใด
แม้ว่ารัฐบาลทรัมป์จะยืนยันว่าแผนภาษีใหม่นี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะทำให้สหรัฐฯมีนโยบายภาษีที่ดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น และยังช่วยผ่อนภาระของชนชั้นกลาง แต่พรรคเดโมแครตยังแย้งว่าการลดภาษีดังกล่าวเป็นการเอื้อคนรวยอย่างชัดเจนตามประสานโยบายของรีพับลิกัน และผลประโยชน์ที่จะให้กับชนชั้นกลางก็ยังไม่มากพอ โดยเฉพาะพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวชั้นกลาง ที่จะต้องรับภาระภาษีหนักที่สุด
นอกจากนี้ การปรับฐานภาษีใหม่ยังจะทำให้รายได้รัฐหายไปอย่างมาก ซึ่งเท่ากับว่าจะเพิ่มภาวะขาดดุลการคลัง และกระทบต่อนโยบายสวัสดิการสังคมต่างๆที่ใช้เงินมาก เช่นการประกันสังคม และการรักษาพยาบาล ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อชั้นกลางและล่าง ในขณะที่คนรวย นายทุน นักธุรกิจ จะได้ประโยชน์เต็มๆจากการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงการยกเลิกภาษีมรดก
นายทรัมป์ยืนยันว่าการเสียรายได้จากการลดภาษี จะถูกชดเชยด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้รัฐเก้บภาษีได้มากขึ้นเองในอนาคต แต่ผู้เชี่ยวชาญยังคงยืนยันว่าการเติบโตจะไม่พอสำหรับปิดช่องว่างของรายได้ที่หายไปนี้ และด้วยภาวะหนี้ประชาชาติของสหรัฐฯที่สูงกว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์ มากเป็นประวัติการณ์ สหรัฐฯไม่สามารถเสี่ยงมีภาวะขาดดุลทางการคลังได้มากกว่านี้อีกแล้ว
จึงต้องติดตามว่า แผนภาษีของรีพับลิกันฉบับนี้ จะถูกนำมาใช้จริงได้เมื่อไหร่ และจะเกิดผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เพิ่งฟื้นตัวในยุคของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา