สัญญาณเชิงบวกต่อเศรษฐกิจเริ่มขึ้นนับตั้งแต่ทราบผลการเลือกตั้งในเช้าวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั้งยุโรปเริ่มต้นสัปดาห์อย่างสดใส ดัชนีหุ้น CAC ของปารีส ชนิดซื้อขายล่วงหน้า ก็ขึ้นไปทันทีร้อยละ 3.9 ส่วนเยอรมนี อีกประเทศที่เป็นเสาหลักของยุโรปและกำลังจะมีการเลือกตั้งเช่นกัน ดัชนี DAX (แด็กซ์) ก็ขึ้นไปร้อยละ 2.5 แม้แต่ FTSC (ฟุตซี) 100 ของอังกฤษ ก็ขึ้นไปถึงร้อยละ 1.6 แม้ว่าอังกฤษจะกำลังเดินหน้าออกจากสหภาพยุโรปแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับดัชนีหุ้น S&P และดาวโจนส์ของสหรัฐฯ นิกเคอิของญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในเอเชีย ที่ขึ้นกันถ้วนหน้า ส่วนเงินยูโร ก็แข็งค่าที่สุดในรอบ 5 เดือน ล่าสุดอยู่ที่ 1.09 ดอลลาร์ หรือ 37.42 บาทต่อ 1 ยูโร
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะชัยชนะของนายมาครง นอกจากจะเป็นการการันตีว่าฝรั่งเศสจะยังอยู่ในอียูต่อไป ไม่เกิด Frexit หรือการประชามตินำประเทศออกจากอียูตามที่นางมารีน ลูแปน ผู้สมัครขวาจัดหาเสียง นายมาครงยังเป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลก ในขณะที่ผู้สมัครทั้งสองที่ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ต่างก็เสนอการเปลี่ยนแปลงการเมืองและนโยบายครั้งใหญ่เหมือนกัน แต่นางลูแปนใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือหาเสียง ส่วนนายมาครงใช้ความหวัง
นโยบายของนายมาครง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนสหภาพยุโรป ลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา หรือเพิ่มการลงทุนภาครัฐ และส่งเสริมสตาร์ทอัพ รวมถึงเปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา ล้วนบ่งบอกว่าเขายอมรับว่าผู้อพยพและการส่งเสริมการค้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ ไม่ใช่นโยบายกีดกันการค้าและชาตินิยมต้านผู้อพยพเหมือนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยประสบความสำเร็จในการใช้หาเสียง และนางลูแปนก็เกือบจะประสบความสำเร็จเช่นกัน
นอกจากนี้ แม้ว่านายมาครงจะเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ วัยเพียง 39 ปี แต่เขาก็เชี่ยวชาญด้านเศรษฐฏิจ เคยทำงานธนาคาร และเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดี รวมถึงรัฐมนตรีเศรษฐกิจมาก่อน เขายังเป็นผู้ผลักดันแผนปฏิรูปกฎหมายแรงงานให้เอื้อต่อภาคธุรกิจมากขึ้น และลดอัตราการว่างงานของวัยรุ่น ที่สูงกว่าร้อยละ 20 ในฝรั่งเศส เท่ากับว่านายมาครงเป็นผู้ที่เข้ามาถูกจังหวะ ในยุคที่ชาวฝรั่งเศสกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจพอดี
นโยบายเศรษฐกิจของนายมาครง ถูกจับตาอย่างมากจากชาติเพื่อนบ้านยุโรป โดยเฉพาะเสาหลักอียูอย่างเยอรมนี นักวิเคราะห์ในเยอรมนีมองว่าสิ่งที่นายมาครงต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือการแก้กฎหมายแรงงานที่กำหนดชั่วโมงทำงานไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งทำให้นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาจำนวนมากจนไม่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ และยังต้องลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่หาเสียงไว้ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนหันมาลงทุนในฝรั่งเศสอีกครั้ง
และหากสิ่งที่นายมาครงหาเสียงไว้ได้รับการปฏิบัติจนเป็นรูปธรรมจริง ผลที่ตามมาก็คือเงินลงทุนจะไหลกลับไปยังยุโรปอีกครั้ง เนื่องจากนโยบายกีดกันการค้าของนายทรัมป์ บวกกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ยังไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยจนสูงเกินหน้าประเทศอื่นมากนัก ทำให้สหรัฐฯไม่ใช่พื้นที่ที่ต้อนรับนักลงทุน แม้ว่ายุโรปจะไม่ได้ให้ดอกเบี้ยสูงมากนัก แต่ก็ทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าเมื่อการเมืองฝรั่งเศสและเยอรมนีนิ่ง ส่วน Brexit ก็เดินไปตามแผน ยุโรปจะเป็นสถานที่ที่สะดวกและปลอดภัยที่สุดสำหรับการลงทุนเหมือนในอดีต
แล้วผลที่จะเกิดขึ้นกับเอเชียรวมถึงไทยคืออะไร?
แม้ว่าประเทศในเอเชียต่างจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากกระแสการผ่อนคลายความกังวลจากนักลงทุนว่าอาจจะเจอ Brexit และปรากฏการณ์ทรัมป์ซ้ำสองในศึกเลือกตั้งฝรั่งเศส และทุกประเทศย่อมได้รับผลดีจากการที่ผู้นำฝรั่งเศสไม่มีนโยบายกีดกันการค้า ต่อต้านผู้อพยพ แต่สำหรับประเทศไทย การที่ยุโรปกลับมาเป็นตัวเล่นสำคัญทางเศรษฐกิจอีกครั้ง อาจทำให้ไทยมีการบ้านยากขึ้น เพราะที่ผ่านมา การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเกี่ยวพันกับมาตรฐานประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์ไทยตอนนี้ จึงอยู่บนความไม่แน่นอน ทั้งกับสหรัฐฯ ที่กำลังเดินนโยบายกีดกันการค้าแบบตรงไปตรงมา และสหภาพยุโรป ที่ใช้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนเป็นเครื่องมือกีดกันการค้าแบบอ้อมๆ แม้แต่จีน คู่ค้าสำคัญของไทยในเอเชีย สถานการณ์ก็ไม่มั่นคง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนโตช้าลงอย่างต่อเนื่อง