แพทย์และนักศึกษาแพทย์แคนาดายื่นจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการขึ้นค่าจ้างตัวเอง เนื่องจากแพทย์ได้เงินเดือนมากเกินไปแล้ว ในขณะที่พยาบาลและคนไข้ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
อายุรแพทย์ 213 คน แพทย์เฉพาะทาง 184 คน และแพทย์ประจำบ้าน 149 คน รวมถึงนักศึกษาแพทย์อีก 162 คนในควิเบก แคนาดา ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านการใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อเพิ่มค่าจ้างแพทย์ โดยให้เหตุผลว่าปัจจุบันแพทย์ในแคนาดาได้ค่าจ้างมากเกินไปอยู่แล้ว ในขณะที่อาชีพอื่นๆ รวมถึงพยาบาลกลับยังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทำงานหนัก แต่ได้ค่าจ้างน้อย ส่วนคนไข้จำนวนมากก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเต็มที่อันเนื่องจากมาจากการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางโดยกระทรวงสาธารณสุข และการตัดลดงบประมาณด้านสวัสดิการรัฐอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พร้อมย้ำว่าท่ามกลางการตัดลดงบประมาณต่างๆ ในด้านสาธารณสุข ดูจะมีแต่เงินเดือนแพทย์เท่านั้นที่ได้เอกสิทธิ์คุ้มกัน ไม่เคยถูกตัดลดลงเลย
แพทย์กลุ่มนี้ยังยืนยันอีกด้วยว่า พวกเขาเชื่อว่ามีวิธีที่ดีกว่านี้ในการจัดสรรงบประมาณของรัฐควิเบกให้เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาวะของประชาชน ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยโดยไม่ต้องเบียดบังค่าแรงของบุคลากรในระบบสาธารณสุข จึงขอร้องให้ยกเลิกการขึ้นเงินเดือนแพทย์ แล้วนำงบประมาณกลับเข้าไปในระบบ เพื่อใช้พัฒนาสวัสดิภาพของบุคลากรและคุณภาพการบริการต่อไปเพื่อประชาชนชาวควิเบก
แคนาดามีระบบสวัสดิการสาธารณสุขแบบถ้วนหน้า ที่รับประกันการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนทุกคนตามความจำเป็น โดยไม่ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการจ่ายของผู้เข้ารับการรักษา นอกจากนี้รัฐยังให้เงินอุดหนุนการเรียนแพทย์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง โดยค่าเล่าเรียนแพทย์จะอยู่ที่ 2,500-20,000 ดอลลาร์ หรือ 78,000-620,000 บาทในปีแรก ขึ้นอยู่กับว่าผู้เรียนมีสัญชาติแคนาดาหรือไม่
ในแต่ละปี รัฐบาลแคนาดาจ่ายเงินให้กับแพทย์เฉลี่ย 260,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8.2 ล้านบาทต่อคน ไม่รวมรายได้พิเศษจากการผ่าตัดและบริการเฉพาะทางอื่นๆ ขณะที่ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง จะได้รายได้ประมาณ 354,000 ดอลลาร์ หรือ 11 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แพทย์ในรัฐอื่นของแคนาดายังประสบปัญหาด้านรายได้ โดยเว็บไซต์ซีบีซีรายงานว่า แพทย์ในรัฐโนวาสโกเชียมีรายได้รวมน้อยกว่าแพทย์ในรัฐอื่นๆ เฉลี่ยประมาณ 10,000-100,000 ดอลลาร์ต่อปี เป็นผลจากการกระจายงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพไม่เท่าเทียมกัน ทั้งยังมีปัญหาแพทย์จบใหม่ต้องแบกรับภาระหนี้จากการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ โดยเฉพาะพยาบาล มีปัญหาทำงานหนักจนเกินเวลา เพราะจำนวนคนไม่พอกับผู้ป่วย ทั้งยังไม่ได้รับสวัสดิการที่ครอบคลุมเท่ากับแพทย์
ส่วนกรณีของไทยประสบปัญหาการกระจายตัวของแพทย์ไม่เท่าเทียมกันระหว่างพื้นที่เมืองกับพื้นที่ชนบท โดยเมื่อปีที่แล้ว นพ.สุรัตน์ ตันติทวีวรกุล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลกระบี่ ผู้นำในโครงการเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน. 042) เปิดเผยกับวอยซ์ทีวีว่า ประเทศไทยมีประชากรมากกว่า 65 ล้านคน สัดส่วนแพทย์ 1 คน จะต้องดูแลคนไข้โดยเฉลี่ยประมาณ 2,125 คน แต่ปรากฏว่า แพทย์ในกรุงเทพฯ 1 คนจะดูแลคนไข้ 700 คน ส่วนหมอต่างจังหวัดดูแลคนไข้ 1 ต่อ 2,600 คน ซึ่งเกินกว่าค่าเฉลี่ย