อุทกภัยครั้งร้ายแรงใน 10 จังหวัดทางภาคใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก สาเหตุหนึ่งของอุทกภัยครั้งร้ายแรงนี้มาจาก ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และน้ำมือของมนุษย์ ส่งผลให้กว่า 6 พันหมู่บ้าน ใน 51 จังหวัดทั่วประเทศ กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม วันนี้ (4 เมษายน 2554) รายการ Hot Topic ได้รับเกียรติจากนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายเลิศสิน กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดดินถล่มเกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ สภาพธรณีวิทยา สภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำฝน สภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งปริมาณน้ำฝนเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะ ถ้าปริมาณน้ำฝนมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในรอบ 24 ชั่วโมง จะเกิดน้ำป่าไหลหลาก และหากปริมาณน้ำฝนมากกว่า 150 มิลลิเมตร ชั้นดินบางแห่งอาจเกิดดินไหลหรือดินถล่มได้
นอกจากปัจจัยทั้ง 4 แล้ว มนุษย์เป็นอีก 1 ปัจจัยสำคัญ เพราะ มนุษย์เข้าไปบุกรุกทำลายป่าไม้ธรรมชาติ ดังนั้นเราต้องมีมาตราการในรักษาธรรมชาติ
สิ่งที่บอกว่าจะเกิดดินถล่ม คือ มีฝนตกหนักถึงหนักมาก (มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน) ระดับน้ำในห้วยสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีของดินบนภูเขา มีเสียงดัง อื้ออึง ผิดปกติดังมาจากภูเขาและลำห้วย น้ำท่วมหมู่บ้าน และเพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว
Produced by VoiceTV