เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่วัดความรุนแรงได้ 9.2 ริคเตอร์ บริเวณเกาะสุมาตรา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิโจมตีหลายประเทศ รวมทั้ง 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5,395 ราย สูญหาย 2,995 ราย
หลังจากเกิดสึนามิ คณะนักวิจัยจากภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงพื้นที่ 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน เพื่อสำรวจร่องรอยทางธรณีวิทยาที่สึนามิ ปี 2547 ทิ้งไว้ ร่อยรองที่ต้องค้นหา คือ “ตะกอนที่สะสมตัวโดยสึนามิ” เป้าหมายหลักคือ ต้องหาตะกอนที่สะสมตัวจากสึนามิโบราณให้ได้ ไม่ว่าจะสะสมตัวในสภาพแวดล้อมแบบใด พื้นที่สำรวจ คือ ที่โล่งและลุ่มต่ำ หรือบริเวณป่าชายเลน
ผลการสำรวจที่เกาะพระทอง จังหวัดพังงา พบหลักฐานทางตะกอนวิทยาที่สมบูรณ์ พบขั้นการสะสมตัวของตะกอนทรายแทรกสลับชั้นดินโคลนในหลายตำแหน่ง ทีมนักวิจัยพบว่า หลักฐานทางธรณีวิทยาที่พบบ่งชี้ว่า ชั้นตะกอนทรายที่แทรกตัวอยู่ระหว่างชั้นดินจำนวน 3 ชั้น ชั้นบนสุดของสึนามิโบราณเกิดขึ้นเมื่อ 600 ปีมาแล้ว จัดเป็นสึนามิโบราณที่เกิดขึ้นระหว่างตอนปลายสมัยสุโขทัย ถึงอยุธยาตอนต้น
ขณะนี้แม้เวลาจะล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 7 แล้วแต่คณะนักวิจัยยังลงพื้นที่จุดสำรวจเพื่อหาช่วงเวลาระหว่าง 600 ปีที่แล้ว จนถึงปี 2547 เคยเกิดสึนามิมาก่อนหรือไม่ แต่หลักฐานจากการสะสมตัวของตะกอนในชั้นลึกลงไปพบว่า เคยเกิดขึ้นในรอบ 2,800 ปีที่แล้ว หากคำนวนอายุของสึนามิแต่ละครั้งได้ ก็จะทราบค่าเฉลี่ยของการเกิดสึนามิในประเทศไทย
หนึ่งในคณะนักวิจัย คือ ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว ยังอธิบายความเป็นไปได้ของการเกิดสึนามิในฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน โดยฝั่งอ่าวไทย ต้องจับตาร่องลึกมะนิลา ในประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนฝั่งอันดามัน ต้องจับตาร่องลึกซุนดรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่เคยเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิมาแล้ว แต่ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะมีทุ่นตรวจจับคลื่นสึนามิ ซึ่งเป็นความร่วมมือของศูนย์ป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติกับนานานประเทศ
Produced by VoiceTV