แอปพลิเคชัน TikTok ซึ่งมีไว้สำหรับแบ่งปันวิดีโอในกลุ่มผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ มีรายได้ครึ่งปีแรกของปีนี้สูงกว่าที่เคยประเมินไว้ ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า แอปฯ ตัวนี้จะเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีที่มาแรง และอาจแซงหน้ายักษ์ใหญ่อย่างเทนเซ็นต์ของจีนไปได้ง่ายๆ
TikTok ได้รับการยกย่องจากสื่อสายธุรกิจว่าเป็น 'สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น' จากปักกิ่ง เพราะทำเงินให้กับบริษัท 'ไบต์แดนซ์' (ByteDance) ผู้เป็นเจ้าของแอปฯ รวมแล้วกว่า 60 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2019 ทำให้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตทางธุรกิจในปีนี้ขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่คิดว่าจะมีรายได้ประมาณ 100 ล้านหยวน ก็ประเมินว่าน่าจะมีรายได้สูงถึง 120 ล้านหยวน หรือประมาณ 5.14 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีนี้
ขณะที่ 'รอยเตอร์ส' รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวที่เป็นคนในแวดวงเทคโนโลยีของจีนที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะบริษัท 'ไบต์แดนซ์ยัง' ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลด้านรายได้เมื่อปี 2018 ต่อสาธารณะ แต่แหล่งข่าวคนดังกล่าวประเมินว่า รายได้ส่วนใหญ่ของไบต์แดนซ์น่าจะมาจากโฆษณาของแอปฯ 'โต่วอิน' ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะของ TikTok ที่ให้บริการภายในประเทศจีน และรายได้จากโฆษณาของ TikTok ในประเทศอื่นๆ ก็กำลังกระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
โมเดลธุรกิจของ TikTok ถูกนำไปเปรียบเทียบกับแอปพลิเคชันแบ่งปันวิดีโอรายใหญ่อย่างยูทูบ รวมถึง 'ไอจีสตอรี่' ของอินสตาแกรม ซึ่งเป็นกิจการหนึ่งของเฟซบุ๊ก แต่สื่อต่างประเทศรายงานเพิ่มเติมว่า TikTok น่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญของบริษัทเกมและเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง 'เทนเซ็นต์' มากที่สุด เพราะต่างก็พุ่งเป้าไปที่ตลาดในประเทศจีนเป็นอันดับแรก และ TikTok อาจทำให้ 'ไบต์แดนซ์' มีโอกาสขึ้นมาตีคู่ หรือไม่ก็แซงหน้า 'เทนเซ็นต์' ได้ แม้ว่าบริษัทหลังจะได้รับแรงหนุนจาก 'อาลีบาบา' ก็ตาม
ขณะที่เว็บไซต์ เทคครันช์ สื่อด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา ประเมินว่า TikTok เป็นคู่แข่งที่สำคัญของสื่อสังคมออนไลน์ใหญ่ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ยูทูบ, เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ ทั้งยังรายงานด้วยว่าถ้าผู้บริหารโซเชียลมีเดียเหล่านี้ประเมินผิดพลาด อาจจะต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากทางธุรกิจในอนาคตก็เป็นได้
เทคครันช์พาดพิงถึง 'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' ผู้บริหารเฟซบุ๊ก หลังจากที่ผู้ร่วมประชุมภายในบริษัทรายหนึ่งนำคลิปเสียงของซักเคอร์เบิร์กออกมาเปิดเผยกับสื่อ โดยพยายามจะชี้ให้เห็นว่า ซักเคอร์เบิร์กไม่เข้าใจการทำงานของ TikTok เท่าไหร่นัก ทั้งที่เป็นแอปฯ คู่แข่งที่น่ากลัวของไอจีสตอรี่ โดยข้อมูลที่เทคครันช์นำมาเผยแพร่ อ้างว่าซักเคอร์เบิร์กเปรียบเทียบ TikTok กับไอจีสตอรี่ของอินสตาแกรม แต่ก็มองว่าการดำเนินแผนธุรกิจของเขา ควรพุ่งเป้าไปที่แอปฯ Lasso (ลาสโซ) ที่พยายามเลียนแบบเฟซบุ๊กมากกว่า
จากกรณีดังกล่าว ทำให้เทคครันช์ระบุว่า TikTok นั้น 'ไปได้ไกล' กว่าไอจีสตอรี่ของอินสตาแกรมอย่างแน่นอน เพราะสถิติผู้ดาวน์โหลด TikTok ทั่วโลกที่สำรวจเมื่อตอนกลางปีที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 1,400 ล้านคนแล้ว โดยตลาดใหญ่สุดอยู่ที่จีน ซึ่งมีผู้ใช้งานอยู่แล้วกว่า 640 ล้านคน
แหล่งข่าวในเฟซบุ๊กสะท้อนความกังวลกับเทคครันช์ว่า ถ้าผู้บริหารไม่เข้าใจคู่แข่งธุรกิจอย่างแท้จริง ก็อาจจะส่งผลให้การวางแผนการตลาดผิดพลาดได้
ซึ่งเทคครันช์ก็ระบุว่า ไอจีสตอรี่ของอินสตาแกรมนั้นทำได้เพียงถ่ายภาพวิดีโอเซลฟี่หรือภาพเหตุการณ์ตรงหน้าในระยะเวลาสั้นๆ หรือไม่ก็ต้องนำวิดีโออื่นๆ มาแบ่งปัน แต่วิดีโอของ TikTok ถูกเปรียบเทียบว่าเป็น 'สตอรี่บอร์ด' ของผู้กำกับภาพยนตร์ เพราะผู้ใช้แอปฯ สามารถจะถ่ายทำและตัดต่อวิดีโอได้อย่างง่ายดายด้วยตัวเอง ทำให้เนื้อหาที่ปรากฏใน TikTok มีความหลากหลายและดูมีชั้นเชิงมากกว่าไอจีสตอรี่
ส่วนเว็บไซต์เดอะการ์เดียน รายงานว่า TikTok เป็นแอปฯ ที่น่าจับตามองในด้านธุรกิจ แต่ก็ถูกตั้งคำถามเรื่องนโยบายการควบคุมหรือปิดกั้นเนื้อหามากกว่า 'ยูทูบ' หรือ 'เฟซบุ๊ก' ที่พยายามจะยืนยันหลักการ 'เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น' โดยไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลหรือกลุ่มทุนที่มีประวัติเรื่องการละเมิดหลักเสรีภาพดังกล่าว
ข้อมูลที่เดอะการ์เดียนอ้างอิง เกิดจากการร้องเรียนของผู้ใช้งานTikTok หรือ 'โต่วอิน' ในจีน ที่ระบุว่า พวกเขาไม่พบวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของจีนในอดีต รวมถึงถูกส่งข้อความเตือนให้ลบวิดีโอที่มีเนื้อหาพาดพิงรัฐบาลจีน หรือแม้แต่วิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ หรือ LGBT ซึ่งข้อจำกัดของ TikTok ในด้านนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้แอปฯ บางกลุ่มในต่างประเทศได้เช่นกัน