วันที่ 3 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันปลอดถุงพลาสติกสากล โดยเดือนนี้ยังถือเป็นที่หลายฝ่ายรณรงค์ไม่ให้ใช้พลาสติกตามโครงการ Plastic Free July เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่า การทิ้งผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลาสติกลงชักโครกอย่างไม่ใส่ใจในชีวิตประจำวัน ยังส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำและมหาสมุทรได้เช่นกัน
งานวิจัยของสมาคมอนุรักษ์ทะเล ร่วมกับ 'แนตราแคร์' แบรนด์ผ้าอนามัยที่ไม่ใช้พลาสติก ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ระบุว่าการทิ้งผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลาสติก เช่น แผ่นอนามัย ผ้าอนามัย หรือทิชชู่เปียก ลงในชักโครก เป็นการปนเปื้อนแหล่งน้ำ และแต่ละวันในสหราชอาณาจกันจะมีแผ่นอนามัย 700,000 แผ่น ผ้าอนามัยแบบสอด 2 ล้าน 5 แสนชิ้น และทิชชู่เปียก 1 ล้าน 4 แสนแผ่น ถูกทิ้งลงชักโครก
การเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้สอดคล้องกับวาระการรณรงค์ไม่ใช้พลาสติกในเดือนกรกฎาคม หรือ Plastic Free July โดยทั้งสององค์กรหวังจะให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับผลกระทบของผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น
เรเชล ดายสัน ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการอนุรักษ์น้ำ แองเกลียน วอเทอร์ ให้ความเห็นว่า ผู้หญิงจำนวนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผ้าอนามัยและทิชชู่เปียกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทิ้งลงชักโครก และคิดว่าของเหล่านี้ย่อยสลายได้ง่าย ขณะที่ ข้อมูลจาก วอเทอร์ ยูเค ก็สนับสนุนคำพูดนี้ โดยระบุว่า 8 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งปฏิกูลในท่อน้ำมาจากผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าอนามัย
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สมาคมอนุรักษ์ทะเลแห่งสหราชอาณาจักร สามารถเก็บผ้าอนามัยแบบต่าง ๆ จากพื้นที่ชายหาดทั้งประเทศได้ทั้งสิ้นราว 20,000 ชิ้น ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบชายฝั่งเริ่มหันมาตั้งกลุ่มอนุรักษ์ และประท้วงการทิ้งพลาสติกกันอย่างจริงจัง