ปัจจุบันทั่วโลกต่างพยายามหาวิธีกำจัดขยะพลาสติก ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อม ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ค้นพบเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายขยะพลาสติกได้ภายในไม่กี่วัน ซึ่งจะทำให้เกิดการรีไซเคิลพลาสติกอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก
ในปี 2016 มีการค้นพบแบคทีเรียจากแมลงที่สามารถย่อยสลายพลาสติกได้ในประเทศญี่ปุ่น นักวิทยาศาสตร์จากนานาชาติจึงนำแบคทีเรียนี้มาทดลองปรับแต่งเอนไซม์เพื่อช่วยให้การย่อยสลายดีขึ้น จากเดิมที่สามารถย่อยพอลิเมอร์ธรรมชาติอย่างคิวตินได้เพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้สามารถย่อยสลายพลาสติกจำพวก PET หรือ พอลิเอทิลีน เทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ใช้ผลิตขวดน้ำดื่มได้ดีขึ้น
การทดลองปรับแต่งครั้งนี้ได้ฉายรังสี Diamond Light Source ซึ่งเป็นรังสีเอกซ์ที่มีความเข้มกว่าแสงแดดถึง 10 พันล้านเท่า จนทำให้เอนไซม์กลายพันธุ์ แต่กลับย่อยพลาสติกได้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยใช้เวลาในการย่อยเพียง 2 ถึง 3 วันเท่านั้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายหลายร้อยปี
ศาสตราจารย์ John McGeehan ผู้นำทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัท ประเทศอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian ว่าการค้นพบนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก โดยปัจจุบัน หลังกระบวนการรีไซเคิล ขวดพลาสติกจะกลายเป็นเส้นใยสำหรับทำเสื้อผ้าและพรมได้เท่านั้น แต่เอนไซม์กลายพันธุ์นี้จะช่วยให้พลาสติกย่อยสลายกลับมาสู่สารดั้งเดิมที่ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติก ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องขุดเจาะน้ำมันดิบมาทำพลาสติกอีกต่อไป และจะช่วยลดปริมาณพลาสติกในสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต
โดยในอนาคตอาจมีการพัฒนาเอนไซม์นี้ให้ทำงานได้เร็วขึ้นกว่า 1,000 เท่า และอาจนำไปใช้ฉีดพ่นบนกองพลาสติกขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร เพื่อให้ย่อยสลายเร็วขึ้นได้
ขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา หลังจากซีรีส์ Blue Planet II โดย David Attenborough ได้ออกฉายทางโทรทัศน์ รวมถึงข้อเสนอทางกฎหมายต่าง ๆ โดยก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาตร์ได้ทดลองหาทางกำจัดพลาสติกหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้หุ่นยนต์เก็บพลาสติก ไปจนถึงการระบุตำแหน่งขยะโดยใช้อินฟราเรดจากอวกาศ ซึ่งการค้นพบเอนไซม์กลายพันธุ์ในครั้งนี้อาจนำไปสู่การกำจัดปัญหาขยะพลาสติกในรูปแบบใหม่ต่อไป