ผลวิจัยชี้ การเล่นวิดีโอเกมสามารถช่วยบำบัดผู้ที่มีอาการทางจิตได้ โดยจะควบคุมสมองบางส่วนที่ทำให้ได้ยินเสียงแว่วได้
ทีมนักวิจัยจากสถาบันจิตเวช จิตวิทยา และประสาทวิทยาศาสตร์ แห่งวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยโรแฮมป์ตัน ได้ทำการทดลองใช้วิดีโอเกมบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งไวต่อเสียงรอบข้างและได้ยินเสียงแว่ว โดยเน้นไปยังกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
โดยทีมวิจัยได้ให้ผู้ป่วยจำนวน 12 คน เล่นวิดีโอเกมขณะเข้าเครื่องสแกนสมอง MRI ซึ่งแต่ละคนต้องพยายามคิดค้นกลยุทธ์ในการเคลื่อนย้ายจรวดที่อยู่ในวิดีโอเกม ซึ่งการทำเช่นนี้ทำให้ผู้ป่วยมีสมาธิและช่วยลดระดับเสียงรบกวนจากภายนอกได้เช่นกัน
ดร. นาตาสซา ออร์โลฟ จากวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีอาการจิตเภทลักษณะนี้ จะรู้สึกได้ว่าเสียงเริ่มมาเมื่อไร ดังนั้นทีมวิจัยจึงนำวิธีนี้มาช่วยเพื่อลดอาการเหล่านั้น หรือหยุดเสียงรบกวนอย่างสมบูรณ์ โดยเธอเสริมว่า ผู้ป่วยแต่ละคนได้เข้าเครื่องสแกน MRI คนละ 4 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งพบว่า พวกเขาได้ยินเสียงภายนอกน้อยลง ส่งผลให้ระดับความเครียดของผู้ป่วยลดลงด้วย ซึ่งแปลว่าพวกเขารับสามารถมือกับเสียงเหล่านั้นได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดร.ออร์โลฟ กล่าวว่า แม้ว่าขนาดของกลุ่มตัวอย่างจะมีขนาดเล็กและจำกัดกลุ่มทดลอง แต่ผลการวิจัยเหล่านี้ก็มีแนวโน้มที่ดี ซึ่งตอนนี้กำลังวางแผนที่จะดำเนินการศึกษาแบบสุ่มควบคุม เพื่อทดสอบเทคนิคนี้ไปใช้ในตัวอย่างกลุ่มใหญ่ต่อไป
ด้านศาสตราจารย์ซูกิ เชอร์กิลล์ อาจารย์วิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน และเป็นที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาจาก South London และองค์กร Maudsley NHS Foundation Trust กล่าวว่า งานวิจัยนี้ได้เสนอแนวทางใหม่ให้กับผู้ป่วย และแม้ว่านี่จะเป็นข้อมูลเพียงเบื้องต้น แต่ก็มีแนวโน้มว่าผู้ป่วยจะสามารถควบคุมการทำงานของสมองได้โดยไม่ต้องสแกน MRI และอาจช่วยผู้ป่วยที่ต้องทำ นิวโรฟีดแบคด้วย MRI หรือการฝึกการทำงานของสมองโดยตรง สามารถทำเองได้ที่บ้านด้วย ทั้งนี้งานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว