'เดอะไลออนคิง' เวอร์ชั่นละครบรอดเวย์ ถือเป็นหนึ่งใน 3 โชว์ที่จัดแสดงมาอย่างยาวนานที่สุดในโลก โดยปี 2019 ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 22 แล้ว แต่ปีนี้มีความสำคัญตรงที่ 'เดอะไลออนคิง' ถูกนำมาจัดแสดงที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกอีกด้วย
เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง 'เดอะไลออนคิง' ถูกนำมาฉายใหม่ในรูปแบบเสมือนจริง เพราะนำตัวละครที่เคยเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นมาเสนอในรูปแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก ซึ่งแทบจะไม่ต่างจากสัตว์จริงๆ และในเดือนกันยายนนี้ก็ยังมี 'เดอะไลออนคิง' อีกเวอร์ชันหนึ่งเข้ามาแสดงในประเทศไทย นั่นก็คือ 'เดอะไลออนคิง มิวสิคัล' ซึ่งเป็นเวอร์ชั่น 'ละครบรอดเวย์'
'เดอะไลออนคิง มิวสิคัล' เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท บีอีซี-เทโร ซีเนริโอ ประสานงานกับผู้จัดจากต่างประเทศ คือ 'ไมเคิล แคสเซิล กรุ๊ป' (Michael Cassel Group) และ 'ดิสนีย์ เธียทริคัล โปรดักชั่นส์' (Disney Theatrical Productions) นำละคร 'เดอะไลออนคิง มิวสิคัล' มาจัดแสดงให้กับผู้ชมชาวไทย
ทางด้าน 'โอมาร์ โรดริเกซ' ผู้กำกับการแสดงของ 'เดอะ ไลออนคิง มิวสิคัล' เปิดเผยกับสื่อมวลชนไทยว่า ละครเรื่องนี้อาจจะฉายภาพของบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่ใจความสำคัญของเรื่องนี้มีความเป็นสากล และเชื่อว่าจะสามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย เพราะเป็นการพูดถึงเรื่องราวของ 'มนุษยชาติ' พร้อมทั้งระบุด้วยว่า เราทุกคนคือตัวละครในไลออนคิง เพราะหลายคนต่างก็ต้องการเสาะหาที่ใดที่หนึ่งบนโลกใบนี้ ที่เป็นที่ของเราจริงๆ
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือการสะท้อนภาพของชีวิตภายใต้แรงกดดันของตัวละคร และภาวะที่เราจะต้องเป็นใครสักคนที่สำคัญให้ได้ แต่ผู้กำกับโรดริเกซก็บอกว่า ตัวละครในไลออนคิงก็เหมือนกับคนดูอย่างเราๆ ที่ยังมีเพื่อนฝูงและครอบครัว รวมถึงมีแรงบันดาลใจในการฝ่าฝันชีวิตของตัวเอง
นอกจากนี้ โรดริเกซยังได้อ้างถึง 'จูลี เทมอร์' ผู้กำกับชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสร้างและต้นทางของ 'เดอะไลออนคิง' เวอร์ชั่นบรอดเวย์ด้วยว่า เรื่องราวในเวอร์ชั่นนี้ถูกถ่ายทอดออกมาโดยแตกต่างจากเวอร์ชั่นการ์ตูนและภาพยนตร์ เพราะมีการดึงเอาจุดแข็งของละครบรอดเวย์มาเน้นให้คนดูเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งก็คือการเชื่อมโยงระหว่างตัวละคร เพลงประกอบ รวมถึงชุดและอุปกรณ์ประกอบฉาก ซึ่งถูกออกแบบมาอย่างละเอียดและเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายแทนภาพต่างๆ ในหนัง
ผู้เข้าชมละคร 'เดอะไลออนคิง มิวสิคัล' จะได้เห็นการดัดแปลงหุ่นเชิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมท้องถิ่นในอินโดนีเซียมาเป็นตัวละครที่น่าสนใจ ผสมผสานกับการออกแบบท่าเต้นอ้างอิงการเคลื่อนไหวของสัตว์จริงๆ ให้เข้ากับนักแสดงได้อย่างลงตัว ซึ่งในเรื่องก็จะมีทั้งเสือชีตาห์ ยีราฟ ช้าง นก เมียร์แคท และหมูป่า รวมอยู่ด้วย
ขณะที่ตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งอย่าง 'ราฟิกี' ซึ่งทำหน้าที่ผู้นำจิตวิญญาณของเหล่าสรรพสัตว์ในเรื่อง ถูกเปลี่ยนจากลิงแมนดริลตัวผู้ มาเป็นลิงบาบูนตัวเมีย เพราะจูลี เทมอร์ รู้สึกว่าตัวละครในเรื่องนี้มีผู้หญิงน้อยเกินไป และการเปลี่ยนลักษณะสำคัญของตัวละครก็ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนอย่างไร้ความหมาย เพราะเทมอร์ได้ไปสำรวจข้อมูลในแอฟริกาจริงๆ และพบว่า 'ซังโกมา' หรือพ่อมดหมอผีประจำเผ่าต่างๆ ที่เป็นผู้หญิงก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน
ส่วนนักแสดงและนักเต้นที่เข้าร่วมใน 'เดอะ ไลออนคิง มิวสิคัล' ได้รับคัดเลือกมาจากประเทศต่างๆ โดยนักแสดงนำที่รับบทเป็นซิมบ้า คือ 'จอร์แดน ชอว์' จากอังกฤษ และ 'อแมนดา คูนีนี' จากแอฟริกา รับบทเป็น 'นาล่า' ซึ่งก่อนจะขึ้นแสดงพวกเขาก็ต้องฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องจริงจังหลายวัน โดยกำหนดจัดแสดงครั้งแรกในไทยที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ เริ่มไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา แต่คุณ 'ถกลเกียรติ วีรวรรณ' ในฐานะผู้บริหารของซีเนริโอ บอกว่ายังมีอีกหลายรอบที่จะจัดแสดงในวันต่างๆ
ขณะที่คุณไมเคิล แคสเซิล ผู้บริหารของไมเคิล แคสเซิล กรุ๊ป รวมถึงคุณไมค์ ชัปเปอร์เคลาส์ ผู้กำกับด้านดนตรี ก็บอกด้วยว่า ทุกครั้งที่ 'เดอะไลออนคิง' ถูกนำไปจัดแสดงในประเทศต่างๆ ก็จะมีการปรับหรือเพิ่มบทในบางฉากที่สื่อถึงวัฒนธรรมหรือเรื่องราวในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อหาในละครเพิ่มขึ้น ซึ่งกรณีของไทยก็ได้มีการเพิ่มเติมหรือปรับฉากบางฉากเช่นกัน แต่จะเป็นเรื่องราวอะไรนั้น อาจจะต้องมาพิสูจน์กันเองที่โรงละคร