รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 1 พฤษภาคม 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand มอง “ธนกร” ควรตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่คนแห่ไปร้องเรียน แต่ถึงมาช้าก็ขอให้มาดูแลประชาชนทุกวัน “อ.พิชญ์” คาดยังมีปัญหาอีกยาว
“อ.วิโรจน์” ชี้ หากทำงานเข้าตาผู้มีอำนาจ ต้องทำงานให้เข้าถึงประชาชน ทำให้คนยอมรับ ดีกว่า ส่งไลน์ข่าวคอยตำหนิ หรือ แซะคนอื่น ให้กับนักข่าว
วันที่ 2 ของการเปิดให้ประชาชนยื่นร้องเรียนเงินเยียวยา แม้ช่วงบ่ายวันศุกร์ (1 พ.ค.) ผู้มาร้องเรียนเริ่มบางตา หลังอากาศร้อนอบอ้าวถึง 34 องศา แต่เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มพื้นที่ให้บริการ จากยอดการขอยื่นเรื่องร้องเรียนกว่าพันคน
ต่อมา น.ส.เฉลิมรัตน์ อิ่มนุกูลกิจ รักษาการ ผอ.สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาว่าวันอังคารที่ 5 พ.ค. ที่จะเปิดรับเรื่องอีกครั้ง จะย้ายจุดไปบริเวณประตู 1 ซึ่งอยู่ริมคลองประปา และใต้ทางด่วนศรีรัช ที่ช่วยบังแดด และฝนพอสมควร อีกทั้งยังกว้างขวางกว่าจุดหน้าประตู 4 มีรายงานว่า กำลังประสานขอปิดการจราจรถนนเลียบคลองประปา ตั้งแต่เวลา 6.00 น เป็นต้นไป
ขณะที่ช่วงเช้า นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง ได้มาดูแลความสงบเรียบร้อย และสั่งการให้เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ และจุดรับเรื่องร้องเรียน อีก 2-3 โต๊ะ จากเดิมที่มีอยู่ 5 โต๊ะ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ที่ช่วงเช้ามาคนเดินทางมาไม่ต่ำกว่า 100 คน และระบุว่า เบื้องต้นจะปิดรับเรื่องร้องเรียน วันที่ 8 พ.ค. รวมถึงวันหยุดราชการเสาร์-อาทิตย์ และวันที่ 4 พ.ค. ที่เป็นวันหยุด “วันฉัตรมงคล” ส่วนประชาชนในต่างจังหวัดที่มีปัญหาการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้ที่ "ศูนย์ดำรงธรรม"ประจำจังหวัดทุกแห่ง ไม่ต้องมาที่กระทรวงการคลัง
ขณะที่ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการ 10 ปลัดกระทรวง ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการช่วยเหลือกลุ่มตกหล่นที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทเพิ่มเติม โดยให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กลับไปจัดทำแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติม จากเดิมที่เสนอมาใช้เงิน 39,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการ เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และคนไร้บ้าน รวม 13 ล้านคน โดยให้ขยายไปกลุ่มประชาชนในพื้นที่ห่างไกล คนเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต ให้ได้รับเยียวยาด้วย ซึ่งอาจต้องใช้งบมากกว่าเดิม แต่จะไม่นับรวมนักศึกษาจบใหม่ แม่ค้าออนไลน์ ข้าราชการบำนาญ คนว่างงานอยู่เดิม เพราะมองว่าไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ขอให้ช่วยเหลือกลุ่มเครือข่ายวัฒนธรรม เช่น อาชีพนักแสดงพื้นบ้าน ศิลปะวัฒนธรรมที่ตกงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอให้ช่วยเหลือบุคลากรด้านนักกีฬา การเพิ่มเติมซอฟท์โลนช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว โดยให้ทุกหน่วยงานทำการบ้านนำกลับมาเสนอใหม่ในกลางเดือนนี้ โดยจะใช้เงิน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทช่วยเหลือทั้งหมด ก่อนจะเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้ เงินกู้ และ ครม.พิจารณาต่อไป
มีรายงานเพิ่มเติมว่า เบื้องต้น พม.จะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางแน่นอนแล้ว 13 ล้านคน โดยแจกเงินให้คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี เพิ่มอีกคนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เช่น เดิมได้รับเบี้ยผู้พิการ 1,000 บาท ก็จะเพิ่มเป็นเดือนละ 2,000 บาท และผู้สูงอายุจะได้เพิ่มจากเบี้ยอีกคนละ 1,000 บาท
ส่วนคนไร้บ้านจะไม่แจกเป็นเงินแต่จะช่วยหาที่พักอาศัย และอาหารการกินให้แทน ส่วนอาชีพนาฎศิลป์ นักกีฬา จะพิจารณาดูว่ามีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทหรือไม่ แต่ถ้าไม่ได้จะมีการจัดหามาตรการช่วยเพิ่มเติม
สำหรับการจ่ายเงินผู้ที่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยา 5,000 บาท นั้น นายประสงค์ ยืนยันจะจ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายใน 16 พ.ค.นี้ ทั้งหมด 16 ล้านคนอย่างแน่นอน โดยขอให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลสิทธิ์ผ่านทางเว็บไซต์www.เราไม่ทิ้งกัน.comว่าได้รับสิทธิ์หรือไม่ เพราะจะเป็นการรายงานแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเร็วกว่าการยืนยันผ่านSMSที่จะมาส่งมาในช่วงที่ได้รับเงินเข้าบัญชี ซึ่งจะล่าช้ากว่าการอนุมัติสิทธิ์ประมาณ 2-3 วัน
นายประสงค์ ยังขอความร่วมมือสื่อมวลชนว่า อย่าตกเป็นเครื่องมือกับกลุ่มที่มาปั่นป่วน เพราะจะกลายเป็นดราม่า เพื่อจะได้รับเงินเพิ่มเติมจากคนไทยใจบุญที่บริจาคเงินให้ และขอร้องให้ผู้ที่ต้องการตรวจสอบสิทธิ์เข้าตรวจสอบผ่านเว็บไซต์จะดีกว่าการเดินทางมายังกระทรวงการคลัง เพราะหากเกิดโรคระบาดรอบ 2 จะทำให้งบประมาณที่เคยใช้จ่ายไปกับเรื่องนี้เสียเปล่า และหากต้องกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขการระบาดของโรครอบที่ 2 จะยิ่งทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้นอีก