นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีร่วมโครงการสัมมนาสมาชิกวุฒิสภา 2562 และได้กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษเรื่อง 'บทบาทของสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 กับยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ' ว่า
รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตั้งมาตรฐานใหม่ บัญญัติ "หน้าที่" มาก่อน "อำนาจ" โดยให้ ส.ว. ส.ส. คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ มีหน้าที่ที่ต้องทำก่อน จากนั้นจึงตามมาด้วยอำนาจ เห็นแก่หน้าที่มากกว่าการเห็นแก่อำนาจ ซึ่งหน้าที่และอำนาจตามบทรัฐธรรมนูญบทถาวร 3 ประการ คือ
1.หน้าที่และอำนาจในการออกกฎหมาย
2.หน้าที่และอำนาจในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน
3.หน้าที่และอำนาจในการให้ความเห็นชอบเรื่องต่างๆ
โดยหน้าที่และอำนาจในการออกกฎหมายนั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายลูก ต้องเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่ง ส.ว.จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น ส.ว. จึงต้องใส่ใจในการทำหน้าที่นี้ในฐานะที่เป็น 'ผู้แทนปวงชนชาวไทย'
คำว่า 'ผู้แทนปวงชนชาวไทย' นี้ อาจะแทงใจคนบางคน เพราะมองว่า ส.ว. มาจากการแต่งตั้งหรือลากตั้ง ซึ่ง ส.ว.จะเป็นหรือไม่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยหรือไม่ เป็นสิ่งที่สมมติขึ้นมาทั้งนั้น ฉะนั้น ส.ว.จะมาจากแต่งตั้งหรือลากตั้งก็ตาม ก็มีความทัดเทียมกับ ส.ส.ทุกประการ ตามที่มาตรา 114 มาตราเดียวกันนี้บัญญัติไว้