ปัญหาการติดสมาร์ตโฟนในเด็ก ถือเป็นปัญหาที่สำคัญและส่งผลต่อสุขภาพเด็กในหลายด้าน โดยล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การติดหน้าจอสัมผัสในเด็ก ทั้งสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต จะส่งผลต่อพัฒนาการกล้ามเนื้อที่มือทำให้เด็กจับดินสอได้ไม่ดีเท่าที่ควร
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการการเขียนด้วยลายมือ และนักบำบัดด้านกล้ามเนื้อและกระดูก ได้ออกมาเตือนว่า แม้เยาวชนจะได้เคลื่อนไหวมือด้วยการสัมผัสหน้าจอสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ต แต่เมื่อต้องเขียนหนังสือด้วยลายมือแล้ว กลับรู้สึกไม่พร้อมและทำได้ไม่ดีนัก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เด็กขาดการฝึกทักษะแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น การวาดภาพ ระบายสี และตัดกระดาษ ซึ่งเป็นทักษะที่ช่วยเสริมการควบคุมและประสานการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ด้านซัลลี่ เพน หัวหน้านักบำบัดโรคในเด็กที่มูลนิธิ Hearts of England ในเครือ NHS หรือหน่วยงานด้านสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ระบุว่า ปกติแล้วเมื่อเยาวชนเริ่มเข้าโรงเรียนจะได้รับดินสอ แต่ผลปรากฏว่าเด็ก ๆ มีแนวโน้มที่จับดินสอไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากขาดทักษะในการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานและการควบคุมกล้ามเนื้อของนิ้วทั้ง 5
นอกจากนั้น ผลการศึกษาล่าสุดยังพบว่า ในปัจจุบันมีเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบใช้แท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนมากถึง 58 เปอร์เซ็นต์ และสถานรับเลี้ยงเด็กจำนวนมากก็มีการติดตั้งสมาร์ตบอร์ด หรือจอโต้ตอบดิจิทัลแบบสัมผัสเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ // โดย National Handwriting Association (NHA) ได้ออกมาเตือนว่า การใช้เทคโนโลยีที่มากเกินไปอาจทำให้ทักษะการเขียนของเด็กขาดประสิทธิภาพ หากไม่มีการทำกิจกรรมอื่นร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกเล่น , การตัดกระดาษด้วยกรรไกร , การเขียนด้วยดินสอ , การระบายสี หรือการฝึกใช้กล้ามเนื้อไหล่ ข้อศอก และข้อมือ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2014 พบว่ามีเด็กหลายคนประสบปัญหาที่ร้ายแรงขึ้น คือไม่สามารถต่อบล็อกง่าย ๆ ได้ ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข