วอตส์แอปป์เปิดบริการโทรประชุม 4 สาย
วอตส์แอปป์ เปิดให้ผู้ใช้อัปเกรดแอปพลิเคชัน และเริ่มโทรประชุมสายมากกว่า 2 ยูสเซอร์ได้แล้ว ทั้งในระบบ iOS และแอนดรอยด์
วอตส์แอปป์ ผู้ให้บริการโปรแกรมแชตชื่อดัง เปิดบริการโทรประชุมสาย หรือ group calling ทั้งแบบเสียงและแบบวิดีโอแล้ว หลังจากที่เคยประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าจะมีฟีเจอร์ดังกล่าว ซึ่งผู้ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS และแอนดรอยด์สามารถอัปเดตแอปพลิเคชันได้ตั้งแต่วันนี้ และใช้บริการโทรประชุมได้สูงสุด 4 สาย ไม่ว่าผู้โทรจะอยู่ที่ใดในโลกก็ตาม โดยทุกการโทรจะเป็นการเข้ารหัสจากต้นสายถึงปลายสาย จึงปลอดภัยไม่ต่างจากระบบแชตของวอตส์แอปป์
ปัจจุบัน ผู้ใช้ประจำต่อเดือนของวอตส์แอปป์มีมากถึง 1,500 ล้านยูสเซอร์ หลังให้บริการมาตั้งแต่ปี 2009 หรือ 9 ปีก่อน จนประสบความสำเร็จและเปิดให้ผู้ใช้โทรหากันได้ในปี 2014 และวิดีโอแชตได้ในปี 2016 ซึ่งสถิติล่าสุดชี้ว่า ผู้ใช้วอตส์แอปป์ทั่วโลกใช้ฟีเจอร์โทรหากันรวมทั้งหมด 2,000 ล้านนาทีต่อวัน
ยูทูบแสดงผลคลิปแนวตั้งแบบไม่มีแถบดำ
ยูทูบเริ่มแสดงผลวิดีโอแนวตั้งบนเดสก์ท็อปแบบไม่มีแถบดำด้านข้างแล้ว หลังเปิดให้อัปเดตการใช้งานไปตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อให้วิดีโอปรับสัดส่วนให้พอดีกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งฟีเจอร์ดังกล่าวเปิดใช้งานกับสมาร์ตโฟนทั้ง iOS และแอนดรอยด์ไปแล้ว โดยวิดีโอที่ขนาดไม่ตามมาตรฐานทั้งหมด จะมีแถบสีขาวขึ้นกลืนไปกับพื้นหลังเดสก์ท็อป หรือถูกขยายให้เต็มหน้าจอแทน
ฟีเจอร์นี้ส่งผลต่อคลิปแนวตั้ง ทั้งขนาด 16:9 และ 4:3 ซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้เริ่มใช้งานการแสดงผลแบบใหม่ ก็มีส่วนมากที่ไม่พอใจ เพราะขอบคลิปบางส่วนถูกตัด หรือบางคลิปก็ถูกปรับความละเอียดลงอัตโนมัติ ทำให้การรับชมไม่ได้อรรถรส ล่าสุด กูเกิลยังไม่ได้ออกมาตอบฟีดแบ็กเหล่านี้ และยังไม่มีแนวทางที่จะปรับปรุงการแสดงผลให้ผู้ใช้พึงพอใจยิ่งขึ้น
ทวิตเตอร์จ้างนักวิชาการสกรีนเนื้อหาสุ่มเสี่ยง
ทวิตเตอร์ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อกชื่อดัง เริ่มโครงการตรวจสอบเนื้อหาให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยรวบรวมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อมาสกรีนเนื้อหารุนแรง หรือสร้างความเป็นปฏิปักษ์ ขณะที่ อีกโครงการที่เริ่มดำเนินการควบคู่ไปด้วยคือ ส่งเสริมให้ผู้ใช้สนทนากันด้วยความเห็นหลากหลายกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม นำโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และมหาวิทยาลัยแห่งอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
ทวิตเตอร์ชี้แจงว่า ข้อความที่อาจไม่สุภาพ และในแง่หนึ่งอาจนำไปสู่ปัญหา อาจกลายเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่สำคัญได้ ขณะที่ ข้อความบางประเภท เช่น คำพูดสร้างความเกลียดชัง เหยียดเชื้อชาติศาสนา ถือเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นประชาธิปไตย ที่เคารพคนอย่างเท่าเทียม จึงต้องมีมาตรการแยกแยะให้ชัดเจน โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะมีการพัฒนาเป็นอัลกอริทึมต่อไป
มาตรการทั้งสองเป็นแนวทางต่อเนื่องจากการลบข้อมูลบัญชีปลอม 70 ล้านบัญชี ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้ทวิตเตอร์มีระบบนิเวศการใช้งานที่น่าใช้ และลดพิษภัยจากการสื่อสารระหว่างกันลงให้ได้มากที่สุด