ในยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวัน ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยพยายามรักษาชื่อเสียงของตนเองทั้งบนโลกออนไลน์และในชีวิตจริง แต่การจัดการชื่อเสียงของมนุษย์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตอนโตแล้ว เพราะวิจัยล่าสุดได้ชี้ชัดว่า เด็กอนุบาลตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ก็เรียนรู้ที่จะจัดการชื่อเสียงของตนเองแล้ว
งานวิจัยหัวข้อ ‘เทรนด์ของวิทยาการปัญญา’ หรือ ‘Trends in Cognitive Sciences ที่ศึกษากระบวนการคิดและการรับรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งจัดทำโดยอิลก์ ซิลเวอร์ นักศึกษาปริญาเอกด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ร่วมกับอเล็กซ์ ชอว์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยชิคาโก เผยว่า เด็กๆ รู้จักจัดการชื่อเสียงของตนเอง นับตั้งแต่เข้าโรงเรียนอนุบาล เพราะเป็นช่วงที่เริ่มเข้าใจความสำคัญของชื่อเสียง และรู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะมีชื่อเสียง
โดยซิลเวอร์กล่าวว่า ในช่วงอายุประมาณ 5 ขวบ มนุษย์จะเริ่มเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแก้ปัญหา และต้องคิดว่า ถ้าใครเห็นฉันทำสิ่งนั้น พวกเขาจะมองว่าฉันเป็นคนอย่างไรนะ ซึ่งวิจัยของชอว์ยังเผยว่า เด็กอายุ 5 ขวบจะทำตัวดีขึ้น เมื่อรู้ว่ามีคนกำลังจับตามองอยู่ ซึ่งไม่ว่าจะทำโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม การศึกษานี้ก็ยืนยันได้ว่าเด็ก ๆ จัดการชื่อเสียงของตนเองอยู่ตลอด
นอกจากนั้น การวิจัยนี้ยังบ่งชี้ว่า เด็กจะจัดการชื่อเสียงของตนเองตามสิ่งที่แต่ละคนเห็นผู้อื่นกระทำ โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบเด็กจีนและเด็กแคนาดาวัย 7 ถึง 11 ปี และพบว่า เด็กจีนมักจะถ่อมตัว ไม่แสดงออกพฤติกรรมดี ๆ อย่างตรงไปตรงมา ขณะที่เด็กชาวแคนาดานั้นกลับทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างชัดเจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมของเด็กบ่มเพาะมาจากสิ่งที่แต่ละคนเห็นว่ามีคุณค่าในสภาพสังคมที่อาศัยอยู่
อย่างไรก็ตาม ซิลเวอร์ไม่ได้มองว่า การระมัดระวังการแสดงออกของเด็กนั้นเป็นสิ่งไม่ดี และจะทำให้สูญเสียความเป็นเด็ก เพราะการทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นคิด และพิจารณาว่าสิ่งที่เราทำจะส่งผลต่อคนอื่นอย่างไร ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยในการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่นต่อไปในอนาคต
ขณะที่ชอว์แนะว่า หากผู้ปกครอง อาจารย์ หรือผู้กำหนดนโยบาย ลองทำความเข้าใจว่าเด็กพัฒนาพฤติกรรมนี้อย่างไรและเมื่อไร อาจช่วยแก้ปัญหาเด็กรังแกกันได้ เช่น ลองบอกเด็กว่าการแกล้งคนอื่นนั้นไม่ดี และจะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของแต่ละคน