ผลการศึกษาในอังกฤษชี้ว่า เด็กวัยเรียนส่วนใหญ่เลือกบริโภคอาหารห่อกลับที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเป็นประจำ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเร่งให้ประชากรในประเทศเป็นโรคอ้วน
สถาบันโภชนาการอังกฤษสำรวจพบว่า นักเรียนมัธยมส่วนใหญ่เลือกบริโภค 'อาหารห่อกลับ' หรือ 'เทกอะเวย์' เช่น มันฝรั่งทอดและไก่ทอด อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ทั้งในรูปแบบที่เป็นอาหารกลางวันและเป็นอาหารมื้อหลังเลิกเรียน โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มตัวอย่างอายุ 11 ถึง 16 ปีที่สำรวจทั้งหมด
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า 48 เปอร์เซ็นต์ ของนักเรียนประถม และ 39 เปอร์เซ็นต์ ของนักเรียนมัธยม บริโภคของขบเคี้ยวต่อวัน 3 อย่างขึ้นไป ซึ่งทางสถาบันออกมาแสดงความกังวลว่า ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวขับเร่งสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นในประเทศเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนยิ่งขึ้น
แม้ว่าผลสำรวจจะพบว่า ผลไม้เป็นของขบเคี้ยวยอดนิยมอันดับ 1 ของนักเรียน ทั้งในระดับประถมและมัธยม แต่ของขบเคี้ยวยอดนิยมอันดับ 2 ที่ตามมาติด ๆ กลับเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ทางโภชนาการ เช่น มันฝรั่งทอดและช็อกโกแลต โดยเด็กอายุ 7 ถึง 11 ปี ตอบสำรวจว่าพวกเขาบริโภคอาหาร 2 ชนิดนี้เป็นประจำ มากถึง 46 เปอร์เซ็นต์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง
ทั้งนี้ อุปสรรคอีกประการที่ทำให้การบริโภคอาหารมีประโยชน์เป็นเรื่องลำบากก็คือ เด็กจำนวนหนึ่งกล่าวว่าพวกเขา 'ไม่ชอบ' อาหารมีประโยชน์ โดยกลุ่มหนึ่งระบุว่าอาหารเหล่านี้ 'น่าเบื่อ' ขณะที่ อีกกลุ่มไม่แน่ใจว่าอาหารมีประโยชน์คืออะไรกันแน่