การเก็บข้อมูลพื้นที่ชีวภาพทั่วโลก ชี้ว่า โลกเรามีมลภาวะทางแสงสูง และกินบริเวณครอบคลุมเกินครึ่งโลก ส่งผลกระทบต่อพืชพันธุ์ไม้และสัตว์ชนิดต่าง ๆ
งานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ประเทศอังกฤษ ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ Birdlife International ระบุว่า ปริมาณมลภาวะทางแสงทั่วโลกในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อ 'พื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพหลัก' หรือ Key Biodiversity Areas (KBAs) เกินกว่าครึ่งโลก นอกจากนี้ ยังพบว่าท้องฟ้าส่วนที่มืดสนิทในช่วงกลางคืน โดยไม่มีแสงสังเคราะห์ใด ๆ รบกวน เหลืออยู่เพียงไม่ถึง 1 ใน 3 ของทั้งโลกเท่านั้น
มลภาวะทางแสงช่วงกลางคืนเป็นสิ่งที่ทำลายทั้งจุลินทรีย์ ต้นไม้ และสัตว์หลากหลายประเภท เช่น ทำให้ต้นไม้ผลิตใบเขียวก่อนฤดูกาล ทำให้นกเริ่มร้องตั้งแต่ยังไม่ถึงเช้าวันใหม่ และทำให้จำนวนของสัตว์นักล่าในระบบนิเวศบริเวณต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปจนไม่มีความสมดุล โดยมลภาวะทางแสงเหล่านี้ นับวันจะขยายวงขึ้นเรื่อย ๆ
มลภาวะประเภทนี้ส่งผลกระทบแตกต่างกันไปตามภูมิภาค ซึ่งงานวิจัยพบว่า บริเวณที่มีมลภาวะมากที่สุดอยู่ในตะวันออกกลาง ที่ 46 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือยุโรป ที่ 34 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ สถิติยังชี้ด้วยว่า ปริมาณมลภาวะทางแสงสอดคล้องกับจีดีพีและความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่นั้น ๆ นั่นคือ หากบริเวณใดยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็จะทำให้ปัญหาดังกล่าวยิ่งย่ำแย่ลงตามไปด้วย