ผศ. ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ โอกาสของพรรคคนรุ่นใหม่ที่ประกาศสร้างการเมืองแบบใหม่เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ มีไม่มากภายใต้รัฐธรรมนูญ2560 ที่กติกาเอื้อประโยชน์ให้พรรคเก่า และ รัฐบาลบาลชุดปัจจุบัน
ความฮือฮา จนกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ปรากฏการณ์ การเกิดขึ้นของพรรคใหม่ๆ ที่ไปยื่นจดแจ้งชื่อพรรคที่กกต. กว่า 42 พรรค โดยเฉพาะการประกาศตั้งพรรคใหม่ อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารไทยซัมมิทกรุ๊ป และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฎหมายกลุ่มนิติราษฎร์
ผศ. ดร.พรสันต์ ชี้ โอกาสของพรรคใหม่และพรรคคนรุ่นใหม่ มีไม่มาก เพราะ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมและไม่ต้องการให้เกิดการเมืองในแบบที่เรียกว่า ระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชนะแบบพรรคเดียว
กติการการเลือกตั้งภายใต้ รัฐธรรมนูญใหม่ จึงออกแบบเพื่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่ารัฐบาลผสม ที่จะนำมาสู่การที่พรรคการเมืองหลายพรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล
โอกาสทีพรรคใหม่ หรือพรรคการเมืองใหม่จะประสบความสำเร็จมั้ยในยุคนี้
ผศ. ดร.พรสันต์ ระบุว่ายาก แม้โดยส่วนตัวก็สนับสนุนกับเรื่องไอเดียใหม่ๆที่มันจะเข้าไปพัฒนาประเทศและระบอบการเมืองที่ดีกว่าเดิม เพราะที่ผ่านมามันก็วนอยู่ในความขัดแย้งเป็น10 ปี
แต่เมื่อตรวจสอบกติกาใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม จึงเป็นลักษณะการเลือกตั้งที่เอื้อกับพรรคขนาดกลาง หรือ แม้กระทั่งพรรคเก่าที่เป็นพรรคขนาดใหญ่ด้วยซ้ำ
“ หากดูตามโครงสร้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 มีการกำหนดในเรื่องของการคำนวณจำนวน สส.ในสภาฯจะเห็นว่าทุกอย่างมันล็อคตรงที่ไป การชนะเลือกตั้งใน สส.เขต
เพราะฉะนั้นพรรคใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมา คุณก็ต้องพยายามชนะการเลือกตั้งในระดับเขตให้ได้มากที่สุด”
คำถามก็คือในความเป็นจริง คือ พรรคใหม่สามารถสู้กับพรรคเก่าได้มั้ย เพราะพรรคเก่าคือเจ้าของพื้นที่เดิม อีกทั้งปัญหาในเรื่องของเงินทุนที่ต้องใช้ในการหาเสียง พรรคขนาดเล็ก พรรคใหม่ จะไปสู้ได้หรือไม่ เพราะนั่นคือภาระที่จะต้องแบกรับ
เพราะฉะนั้นโครงสร้างรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้พรรคเก่า หรือพรรคขนาดกลางได้ประโยชน์มากกว่า
ความหวังของ พรรคคนรุ่นใหม่ หรือ พรรคการเมืองใหม่ ยังมีอยู่หรือไม่ ผศ. ดร.พรสันต์ มองว่า การลงเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับกติกา ตัวบทกฏหมายมันไปบล๊อกพรรคใหม่ หรือพรรคขนาดเล็ก มันเปล่าประโยชน์ที่จะพูด
เนื่องจากระบบเลือกตั้งที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของเทคนิคที่สุดท้ายแล้วเมื่อคำนวณออกมา มันจะส่งผลให้พรรคเล็กพรรค พรรคน้อยไม่มีโอกาสเข้าไปมีสัดส่วน สส. ถ้าพูดในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ที่ พรรคเล็ก พรรคใหม่จะไปสู่พรรคเก่าที่มีอิทธิพลในพื้นที่อยู่แล้ว
ผศ. ดร.พรสันต์ ย้ำว่า กติการเลือกตั้งที่กำหนด สส.ในสภาฯขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งแบบเขต ซี่งการเลือกตั้งแบบเขต ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรรค การออกแบการเลือกตั้งแบบนี้ จึงเป็นการออกแบบเพื่อตัวบุคคลไม่ใช่พรรค ดังนั้นคน หรือ สส.ที่คุ้นเคยในพื้นที่นั้นๆจึงได้เปรียบ
“ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ จะเกิดปรากฏการณ์ดูด สส.ดาวเด่น เพื่อต้องการช่วงชิงให้พรรคนั้นๆสามารถชนะเขตการเลือกตั้งนั้นได้ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มสัดส่วน สส.ในสภา มันก็คือระบบการสร้างผู้มีอิทธิพลในเขตนั้นๆ “
ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบส่งผลให้พรรคใหม่ หรือพรรคเล็กเกิดขึ้นได้ยาก ในทางทฤษฏี แม้ว่าพรรคการเมืองใหม่ หรือพรรคคนรุ่นใหม่จะได้รับเสียงตอบรับจากกระแสสังคม เด็กรุ่นใหม่ แต่ก็เชื่อว่าไม่สามารถทานต่อระบบคำนวณ การเลือกตั้งที่มีการเขียนล๊อคไว้เอาไว้หมดได้
“ผมคิดว่า ถ้าทางการเมือง ถ้าพรรคใหม่นั้นมันเริ่มต้นใหม่หมดเลย หมายถึงว่าไม่มีคอนเนคชั่นที่จะพูดคุย หรือมีคนรู้จักในท้องที่ท้องถิ่นคงจะลำบาก แน่นอนไม่พ้นจากการมีต้นทุนเดิมมากก่อน แต่ถ้ามาแบบใหม่เอี่ยมเลยผมคิดว่าลำบากแน่ๆ ผมคิดว่าลำบาก ถ้ามองอย่างโลกสวยก็คือ ต้องดูดสส.ให้ได้มากที่สุด คือพยายามทำให้ตัวเองเป็นพรรคขนาดกลาง”
อย่างไรก็ตาม กระแสในการดูดสส.ในช่วงนี้ ผศ. ดร.พรสันต์ เห็นว่า ในเชิงนโยบายมี2 นโยบายหลักๆ คือ 1.คุญต้องการที่ให้ประเทศนี้บริหารโดยรัฐบาลเดิม คือ คสช.หรือเปล่า 2. หรือต้องการรัฐบาลใหม่ที่ไม่มี คสช.เลย
กระนั้นก็ตาม พรรคที่จดแจ้งชื่อและประกาศตัวสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีก็จะต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกประชาชนไม่เลือก เพราะกระแสความชอบธรรมในรัฐบาลชุดนี้ลดลง ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่เรื่องนาฬิกา ตั้งแต่คดีต่างๆบางครั้ง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เช่น เสือดำ ป้าขวานไม่เกี่ยวการเมืองโดยตรงแต่ความรู้สึก และมีคำถามต่อรัฐบาลว่า คุญยังปกครองประเทศนี้ได้หรือไม่
“ ผมคิดวาสังคมแบ่งเป็น2 ส่วน และบางส่วนอาจไม่เอา แต่ถ้าไม่เอาอาจหมายถึงแค่คนรอบข้าง แต่ก็มีคำถามคือคนรอบข้างยังเป็นแบบนี้ผู้นำก็ต้องมีส่วนด้วยสิ ผมคิดว่า มันจะลามไปที่ตัวระบอบทั้งระบอบไม่ใช่ตัวคุญประวิตร อย่างเดียว
ส่วนนโยบายดีๆ คือ โอกาสของพรรคการเมืองใหม่หรือไม่นั้นก็ยังเป็นปัญหาอีกเช่นกันเนื่องจากการเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต้องอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติหากไม่เข้าข่ายอาจขัดรัฐธรรมนูญได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเอื้อให้รัฐบาลชุดนี้กลับไปเป็นรัฐบาลได้ แต่ก็จะทำงานด้วยความยากลำบาก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะทำให้รัฐบาลเพลี้ยงพล้ำในการบริหารราชการเหมือนกัน
“รัฐธรรมนูญปี60ไปเอาโครงสร้างทางการเมืองแบบรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบหรือไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังนั้นเมื่อ มองอนาคตการเมืองไทยผ่านรัฐธรรมนูญจะเห็นภาพการเมืองที่ยังวนอยู่กับความขัดแย้ง ยังไม่ออกจากความขัดแย้งแน่นอน และตัวรัฐธรรมนูญก็ยิ่งเป็นตัวสร้างความขัดแย้งให้รุนแรงมากขึ้น”
สิ่งที่ผศ. ดร.พรสันต์ วิเคราะห์คือ รัฐธรรมนูญ 21 ที่เป็น รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยเมื่อมาสวมทับกับสังคมสมัยใหม่ถามว่า 40 ปีที่ผ่านมาสังคมมันพลวัตรไปมากน้อยขนาดไหน
“ผมในฐานะที่เป็นนักวิชาการ ผมวิเคราะห์ทั้งในหลักการ และการวิจัยรัฐธรรมนูญทั่วโลก มันเป็นไปไม่ได้ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีอายุยาวนาน และผมทำนายเอาไว้แค่3 ปีผมคิดว่ามันมีแนวโน้มที่จะเกิดรัฐประหารอีก อันนี้วิเคราะห์บริบทแบบไทยตอนนี้ เพราะยังไม่เห็นกลไกการแก้ไขความขัดแย้งในแนวทางที่ถูกต้องเพราะว่าใช้นอกระบบตลอด ผมจึงเห็นว่ามันเป็นระบบที่จะวนกลับไปสู่ความขัดแย้งเดิม”
เมื่อสังคมก้าวหน้าไปไกลมาก แต่ตัวรัฐธรรมนูญยังคงแบบเก่าสุดท้ายมันจะเกิดการปะทะกัน สุดท้ายตามหลักวิชารัฐธรรมนูญมันทนไม่ได้รัฐธรรมนูญก็จะล้มไปในที่สุด และการเมืองไทยก็เข้าสู่วงวนเดิมๆ