ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจต่างชาติในการเจาะตลาดจีน บริษัทต่างชาติจำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลเชิงลึก เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่ง 'อาลีบาบา' มีบริการให้ความช่วยเหลือในส่วนนี้ โดยอาศัยข้อมูลจากผู้บริโภคที่มีอยู่ในมือ
ปัจจุบัน บริษัทนับร้อยลงทุนไปกับการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค คิดเป็นมูลค่านับล้านดอลลาร์ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะยิ่งซับซ้อนขึ้นถ้าบริษัทผู้ผลิตต้องเจาะตลาดใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น จีน ซึ่งมีกำลังซื้อสูง แต่มีพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างออกไป ล่าสุด อาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีน ตั้งตัวเป็นผู้ช่วยบริษัทต่างชาติเหล่านี้ โดยจะสนับสนุนข้อมูลผู้บริโภค จากการเลือกซื้อ เสิร์ชหา และแชร์คอนเทนต์ต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถคิดค้นสินค้าใหม่ ๆ ที่ตรงใจผู้บริโภคจีนมากที่สุด
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา อาลีบาบาได้ทำงานร่วมกับบริษัท มาร์ส ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวชื่อดังจากสหรัฐฯ และ ยูนิลีเวอร์ ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่จากสหราชอาณาจักร จนได้เป็นสินค้าใหม่อย่าง ช็อกโกแลตรสเผ็ด และเครื่องสำอางต้านมลพิษ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ New Manufacturing ที่นายแจ็ก หม่า วางไว้ และเขาก็หวังว่าแนวคิดนี้จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจจีนได้ต่อไปในอนาคต โดยยังมีอาลีบาบาเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดต่อไปเรื่อย ๆ
เคน ลีเวอร์ ผู้ช่วยชาญด้านอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ให้ความเห็นว่า ไม่มีใครในระบบนิเวศธุรกิจตอนนี้ที่ผู้เล่นคนเดียวมีทุกอย่างในมือ และสามารถระบุความต้องการของคุณอย่างเฉพาะเจาะจงได้ แต่อาลีบาบาทำได้ และมีศักยภาพพอที่จะช่วยบริษัทต่าง ๆ พัฒนาสินค้าใหม่ที่จะติดตลาดได้ในอนาคต ซึ่งนี่เป็นเรื่องใหม่ในวงการอีคอมเมิร์ซ
บทความหนึ่งของบลูมเบิร์กเคยระบุไว้ว่า เมื่อนึกถึงอาลีบาบา คุณสามารถนึกถึง บริษัทที่เป็นการผนวกรวมจุดแข็งของกูเกิล เน็ตฟลิกซ์ และแอมะซอนไว้ด้วยกัน เพราะอาลีบาบาเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี Active User มากถึง 600 ล้านบัญชีต่อเดือน นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจโฆษณาออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีระบบจ่ายเงินของตัวเองอย่าง อาลีเพย์ มีแพลตฟอร์มที่เทียบเท่ายูทูบและเน็ตฟลิกซ์ ตลอดจนมีเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ด้วย
กลไกที่สำคัญของอาลีบาบาที่ทำให้การรวบรวมข้อมูลผู้บริโภคเป็นไปอย่างง่ายดายก็คือ การมีอาลีเพย์เป็นระบบจ่ายเงินและการมีซอฟต์แวร์ค้าปลีกเป็นของตนเอง ทำให้สามารถติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างใกล้ชิดและแม่นยำ ทั้งในร้านค้าออฟไลน์และออนไลน์ ขณะที่ ศูนย์นวัตกรรมทีมอลล์ ซึ่งเป็นแผนกวิจัยตลาดของอาลีบาบา ก็สามารถประมวลผลข้อมูลทั้งหมด และนำไปเสนอแนะต่อกับบริษัทต่าง ๆ ว่าลูกค้าจีนต้องการอะไรแล้วสิ่งนั้นยังไม่มีอยู่ในตลาดบ้าง หรือก็คือการหาพื้นที่ใหม่ในตลาดนั่นเอง
นอกจากนี้ อาลีบาบายังใช้นิวส์ฟีดและผลการเสิร์ชของผู้ใช้แพลตฟอร์มเพื่อทดสอบสินค้าใหม่ ตามลักษณะและพฤติกรรมของผู้บริโภคคนนั้น ๆ ด้วย เท่ากับว่า ผู้ใช้แพลตฟอร์มทั้งหมดของอาลีบาบากลายเป็น 'กลุ่มตัวอย่าง' หรือ Focus Group กลุ่มใหญ่ที่สุด ที่สามารถให้ข้อมูลได้แบบรีลไทม์ โดยที่อาลีบาบาไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มในการได้มาซึ่งข้อมูลเหล่านี้
แน่นอนว่าการเก็บข้อมูลเหล่านี้ดูจะเป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค แต่สำหรับอาลีบาบา ซึ่งอยู่ในจีน อาจไม่ถูกตั้งข้อสงสัยมากเท่ากับบริษัทในประเทศตะวันตก ส่วนหนึ่งเพราะความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคจีนถูกสอดส่องอย่างเข้มข้นโดยรัฐอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็รู้สึกยอมรับได้กับการล่วงละเมิดในลักษณะ เพราะพวกเขาเห็นว่าตนเองก็ได้ประโยชน์ คือได้สินค้าที่พึงพอใจ
อย่างไรก็ตาม อาลีบาบาไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่มีช่วยเหลือบริษัทอื่นในการผลิตและจำหน่ายเสียทีเดียว เพราะในธุรกิจที่มีคู่แข่ง อาลีบาบาก็เลือกที่จะใช้เทคโนโลยี 'บล็อก' คู่แข่งเช่นกัน โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพีรายงานว่าแบรนด์ใหญ่ 5 ราย ออกมาร้องเรียนว่าอาลีบาบาไม่แสดงผลสินค้าของตนในร้านค้าออนไลน์ หรือทำให้เสิร์ชหาได้ยากกว่าปกติ หลังจากที่ทั้งห้ารายปฏิเสธที่จะลงนามเป็นพันธมิตรกับอาลีบาบา ซึ่งบริษัทที่เพิ่งร่วมงานกับอาลีบาบาอย่าง มาร์ส และ ยูนิลีเวอร์ ก็ออกมาให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ว่า อาลีบาบาไม่ได้ให้พวกเขาหยุดความร่วมมือกับคู่แข่งอย่าง JD.com และไม่ได้พยายามจะสร้างอคติทางการตลาดขึ้นมาแม้แต่น้อย