รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมาเลเซียประกาศ มาเลเซียจะกลับมาเป็น 'เสือแห่งอาเซียน' ภายใน 3 ปี ระบุนักลงทุนกลับมาเชื่อมั่นศักยภาพเศรษฐกิจมาเลเซียอีกครั้ง
นายลิม กวนเอ็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของมาเลเซีย กล่าวว่า ในปี 2018 มาเลเซียได้รับเงินลงทุนจากต่างชาติโดยตรงเพิ่มขึ้นถึง 48 %โดยเพิ่มขึ้นจาก 54,400 ล้านดอลลาร์ ในปี 2017 เป็น 80,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2018 ซึ่งสะท้อนให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจของมาเลเซียที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนและญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยนายลิมยังกล่าวว่าภายใน 3 ปีถัดจากนี้ไป มาเลเซียตั้งเป้าจ��ต้องกลับมาเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน ในฐานะเสือแห่งอาเซียนให้ได้
นอกจากนี้ นายลิมยังได้ระบุถึงการเติบโตของภาคการผลิตที่ผ่านมาว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ดัชนีในภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซียนั้นเพิ่มขึ้น 3.2 % ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของบลูมเบิร์กที่ประเมินว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของมาเลเซียในเดือนมกราคมจะเติบโตเพียง 2.3 % เท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายลิมกล่าวว่า ปี 2019 นี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ของมาเลเซีย คาดว่าจะเติบโตกว่า 4.9 % แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง เนื่องจากนโยบายการยกเลิกภาษีสินค้าและบริการ หรือที่เรียกว่า GST และเปลี่ยนไปใช้นโยบายภาษีการขายและบริการ หรือ SST รวมไปถึงการรักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงภายในประเทศ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวธุรกิจและให้ประชาชนได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมาเลเซีย
ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า เศรษฐกิจของมาเลเซียนั้นเติบโตอยู่ในระดับที่ดี แม้จะมีการเผชิญหน้าจากปัจจัยเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศแต่ในปี 2018 การเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียนั้นมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จนทำให้มาเลเซียมีรายได้ต่อหัวที่สูงขึ้นและสามารถลดปัญหาความยากจนของประชากรได้มากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะของมาเลเซียยังคงมีอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค แต่อัตราหนี้ครัวเรือนในกลุ่มชนชั้นกลางของมาเลเซียนั้นกลับลดลง
หนึ่งสิ่งที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญมากในปัจจุบันก็คืออุตสาหกรรมด้านการคมนาคม ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีอิทธิพลทั้งในการสร้างรายได้ให้ประเทศและการสร้างภาระหนี้อันใหญ่หลวงอีกด้วย โดยล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าว BBC รายงานว่า นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กำลังพิจารณาวิธีการรับมือและแก้ปัญหาของการขาดทุนของสารการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ โดยทางออกมีหลากหลายตั้งแต่การเลือกที่จะปิดกิจการ การขายกิจการ ไปจนถึงการกู้เงินก้อนใหม่เพื่อแก้ไขสภาวะขาดทุนอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม มหาเธร์เองยอมรับว่าการตัดสินใจที่จะปิดกิจการนั้นถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ซึ่งเขาต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ดี และจะมีการสรุปการตัดสินใจเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน ซึ่งหากมองย้อนกลับไป สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์เริ่มเผชิญกับวิกฤติการณ์การขาดทุนตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา หลังเกิดเหตุเครื่องบินของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ตกถึงสองลำ
อีกหนึ่งปัญหาคาราคาซังที่มาเลเซียกำลังเผชิญและทั่วโลกกำลังจับตา ก็คือ แผนการของโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในมาเลเซียที่เป็นการร่วมมือกับทางการจีน เนื่องจากยังตกลงกันไม่ได้ โดยเมื่อปลายเดือนมกราคม 2019 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศว่ารัฐบาลของตนจะพิจารณายกเลิกสัญญาโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อชายฝั่งตะวันออกของประเทศ เพราะไม่อาจแบกรับภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ โดยโครงการดังกล่าวเป็นการทำสัญญาระหว่างบริษัทสัญชาติจีนและอดีตรัฐบาลมาเลเซีย ภายใต้การนำของ นายนาจิบ ราซัก อดีตนายกฯ ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งไปเมื่อปีที่ผ่านมา
มหาเธร์ ชี้ว่า จะพิจารณาทบทวนโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ส่วนกรณีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงฝั่งตะวันออกของมาเลเซียนั้น เดิมเป็นการทำสัญญากับบริษัท คอนแทร็กเตอร์ ไชน่า คอมมิวนิเคชั่นส์ คอนสตรักชั่น หรือ CCCC กิจการสัญชาติจีน ซึ่งประเมินราคาก่อสร้างเอาไว้ที่ประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มหาเธร์ ระบุว่า เป็นการใช้งบประมาณที่มากเกินไป และหากจะต้องกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว เกรงว่าจะเกิดภาระหนี้ที่เกินกว่าจะบริหารจัดการได้
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวในประเทศจีนที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว ระบุว่า ถ้าการยกเลิกสัญญามีสาเหตุจากงบประมาณก่อสร้างเพียงอย่างเดียว บริษัท CCCC พร้อมจะเสนอปรับลดค่าใช้จ่ายให้กับรัฐบาลมาเลเซียประมาณลง 'ครึ่งหนึ่ง' ของราคาที่เสนอแต่เดิม ซึ่งจะครอบคลุมการก่อสร้างเส้นทางรถไฟกว่า 688 กิโลเมตรทางฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้ คือ เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้มีหลายฝ่ายเกินไป ทำให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน
นอกจากนั้น นายกฯ มหาเธร์ ยังเคยกล่าวเอาไว้ด้วยว่า การลงทุนหรือดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ทั้งของรัฐบาลและเอกชนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในมาเลเซีย ต้องแสดงให้เห็นว่าแต่ละโครงการที่เข้ามาลงทุนนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศมาเลเซีย ไม่ใช่ประเทศที่เข้ามาลงทุนเป็นผู้ได้เปรียบ