รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2563
“ประยุทธ์ และ ส.ว. ของเขา 250 คน” ส่อตกที่นั่งลำบาก หลังนักศึกษาและประชาชน จ่อออกมาขับไล่ นักวิเคราะห์ Talking Thailand ยกคำพูด “พิชัย” เตือน “ประยุทธ์” ถ้าไร้ความสามารถก็ควรออกก่อนจะม็อบจะมา แถมอดีตขุนคลัง “ธีระชัย” ก็เสริม ม็อบจะออกมา เพราะคนจะอดตาย
ส่วน “ส.ว.” หลังถูกนักศึกษาจองกฐิน ก็หนาว ๆ ร้อน ๆ จากปมขาดลงมติ ที่ดันคำถาม “ส.ว.มีไว้ทำไม” กลับมาอีกครั้ง
ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กลุ่มสภาที่ 3 จัดกิจกรรม "รัฐบาลต้องแก้ปัญหาวิกฤตใหญ่เดี๋ยวนี้ ก่อนที่จะสายเกินแก้" / นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า 6 ปีที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ ทำให้ประเทศไทยล้าหลังและเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและทางการเมือง พร้อมเสนอแนวทางการกู้และใช้เงินกู้ 5 ข้อคือ
1.) ควรกู้เงินในประเทศ ไม่ควรกู้จากต่างประเทศ เพราะเสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน
2.) ทบทวนและเร่งดำเนินการ การเยียวยาโควิด-19 ที่ล้มเหลว
3.) เงินกู้ 4 แสนล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งไม่มีเเผนชัดเจน ขาดตัวชี้วัดและเสี่ยงทุจริตสูง
4.) วงเงิน 5 แสนล้านบาทที่จะให้ SME กู้ผ่านธนาคารพานิชย์นั้น เป็นเรื่องดีแต่ควรมีเงื่อนไขการจ้างงานพ่วงด้วย
5.) การอุ้มตราสารหนี้ภาคเอกชน ควรดำเนินการผ่านธนาคารพานิชย์
ส่วนการฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 เสนอ 4 ข้อคือ
1.) กำหนดทิศทางที่ประเทศจะเดินไปในอนาคต ไม่ใช่แค่อ้างวาทกรรมแบบไทยแลนด์ 4.0
2.) สร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้ต่างประเทศเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจได้ พร้อมๆกับพัฒนาระบบราชการโดยเฉพาะระบบออนไลน์
3.) ลดการผูกขาดโดยทุนใหญ่ในทางเศรษฐกิจผ่านนโยบายรัฐ
4.) เปลี่ยนวิธีจัดสรรงบประมาณรัฐ เพิ่มส่วนสาธารณสุขและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลดงบประมาณกองทัพและส่วนที่ไม่จำเป็นในยุคปัจจุบัน / พร้อมทิ้งท้ายว่า หากรัฐบาลไม่มีความสามารถหรือแค่ทำได้เท่าที่ผ่านๆมา พล.อ.ประยุทธ ควรลาออก โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนออกมาขับไล่
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาเป็น "แนวระนาบ" คือระหว่างฝักฝ่ายทางการเมือง แต่จากนี้จะเป็นระลอกที่ 2 คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ที่หากจัดการไม่ได้จะเกิดความขัดแย้ง "แนวดิ่ง" ระหว่างชั้นล่างและชนชั้นกลาง ที่สิ้นเนื้อประดาตัวและสิ้นหวังจากสภาพเศรษฐกิจ ที่จะลุกขึ้นสู้กับ ชนชั้นปกครอง ที่ถืออำนาจรัฐและบริหารประเทศล้มเหลว กลายเป็นความขัดแย้งในสังคมที่รุนแรงกว่าที่ผ่านมา
รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. กล่าวว่า ช่วงแรกที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สังคมยอมรับเพราะสมเหตุสมผล แต่การขยายออกมาเรื่อยๆ สร้างผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและต้นทุนทางการเมืองและทางสังคม ที่ต้องเสียไปซึ่งต้องคิดด้วยว่าคุ้มค่าหรือไม่ และยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์และคณะ มีสมรรถนะหลักคือการใช้อำนาจรัฐในภาวะไม่ปกติ หากแต่ติดกับดักความสำเร็จการจัดการโควิด-19 ช่วงแรก แล้วจะใช้สมรรถนะเดียวที่มีบริหารประเทศต่อไปเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะ 5-6 ปีพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความร่วมมือจากทุกฝ่าย ใช้การโน้มน้าวจูงใจ ไม่ใช่การใช้กฎหมายบังคับ ซึ่งพล.อ.ประยุทธไม่มีสมรรถนะเหล่านี้
เห็นว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ ลาออกในวันนี้ ยังจะเหลือภาพความสำเร็จจากการหยุดโควิด-19 หลงเหลือให้จดจำ แต่หากอยู่ในอำนาจต่อไปจะมีเพียงภาพความล้มเหลวในการบริหารประเทศ
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องการทุจริตในภาวะวิกฤตที่ฝ่ายบริหารอ้างความชอบธรรมในการใช้เงินเข้ามาแก้ปัญหา แต่ ไม่ยอมรับการตรวจสอบจากภาคส่วนต่างๆ พร้อมย้ำว่า การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้เงินของรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ ซึ่งดำเนินการในรัฐสภาไม่เพียงพอ เพราะฝ่ายค้านไม่เข้มเเข็งจากเหตุหลายประการ และ ส.ว.ไม่ได้รับการยอมรับในการตรวจสอบถ่วงดุล โดยเพราะจากบทบาท ส.ว.ที่เป็นเสียงสนับสนุนในการตั้งรัฐบาลชุดนี้ ขณะที่องค์กรสอบภาครัฐมีปัญหาถูกบั่นทอนจากการรัฐประหารตลอดมา
ดังนั้น บทบาทสำคัญจึงเป็นของภาคประชาชนซึ่งผู้มีอำนาจไม่ควรตีโพยตีพายและไม่ควรอย่าเอาสถานการณ์โควิด-19 มาเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธ บั่นทอนหรือโจมตีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากประชาชน เพราะประชาชนมีความชอบธรรมที่จะตรวจสอบรัฐบาลอยู่แล้ว เว้นแต่รัฐบาลมีแผลและระแวงไปเอง จึงกลัวการตรวจสอบ
นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รอง เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า เงินกู้ ไม่ใช่รายได้ และไม่ใช่เงินบริจาค เพราะมีภาระดอกเบี้ยต้องแบกรับ ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินเหมือนการ "ตีเช็ตเปล่า" ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ไม่มีแผนงานที่ชัดเจน ดังนั้นเมื่อเปิดสมัยประชุมสภา จะมีการอภิปรายเรื่องเงินกู้ของรัฐบาล 5 วันต่อเนื่องกัน ซึ่งฝ่ายค้านจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อให้การใช้งบประมาณโปร่งใสและคุ้มค่า
สำหรับการแก้ปัญหาโควิด-19 นั้น มองว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำ แต่เชื้อไม่ได้หายไปไหน ขณะที่เศรษฐกิจกำลังจะพังจากมาตรการล็อคดาวน์และเคอร์ฟิวต่างๆ โดยพรรคก้าวไกล เห็นด้วยและเสนอแนวทางบีบคลาย "บีบ-คลาย" หรือสลับกันสำหรับความเข้มข้นของมาตรการกับการระบาดของเชื้อ