ขณะที่การเลือกตั้งสภาดูมากรุงมอสโกกำลังจะมาถึงในวันที่ 8 ก.ย. ชาวรัสเซียได้ออกมาประท้วงติดต่อกันถึง 4 สัปดาห์แล้ว เพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งที่เป็นธรรม เนื่องจากไม่พอใจที่คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธไม่ให้ผู้ลงสมัครฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลหลายสิบคนลงสมัคร
การประท้วงต่อเนื่องนี้สืบเนื่องจากการที่ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งกรุงมอสโกปฏิเสธไม่ให้ผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลกว่า 10 ราย ลงรับสมัครเลือกตั้ง โดยตามกฎนั้นผู้ลงสมัครต้องล่าลายเซ็นผู้สนับสนุน 5,500 คน ซึ่งผู้สมัครก็ปฏิบัติตาม แต่ทางกรุงมอสโกปฏิเสธการสมัคร โดยอ้างว่ามีบางลายเซ็นในนั้นเป็นของปลอม หรือเป็นของผู้เสียชีวิตไปแล้ว
ทางผู้สมัครและผู้สนับสนุนต่างยืนยันว่าข้ออ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริง ผู้สนับสนุนที่ลงลายเซ็นให้บางรายได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อยืนยันว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่
การประท้วงครั้งแรกเริ่มขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม โดยบรรดาแกนนำพรรคฝ่ายค้าน มีผู้ชุมนุมประมาณพันคน ก่อนที่จะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในสัปดาห์ต่อมา
วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม ชาวรัสเซียนับหมื่นได้ออกมาชุมนุมประท้วง โดย 'ไวต์เคาน์เตอร์' เอ็นจีโออิสระ ประเมินว่ามีผู้ชุมนุมราว 22,500 คน ขณะที่ทางตำรวจประเมินว่ามีผู้ชุมนุม 12,000 คน ทางด้าน อเล็กซี นาวาลนี หัวหน้าพรรครัสเซียแห่งอนาคต (Russia of the Future) ส่วนฝ่ายค้านรัสเซีย ซึ่งร่วมชุมนุมด้วยกล่าวว่าไม่เคยเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงใหญ่ขนาดนี้ตั้งแต่ปี 2012 แล้ว
นาวาลนี ปราศรัยบนเวทีประท้วงให้ชาวรัสเซียออกมาชุมนุมกันอีกครั้งหน้าศาลากลางกรุงมอสโกในวันเสาร์ถัดไป หากคณะกรรมการยังคงไม่รับรองการสมัครของผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งฝ่ายค้าน
ในขณะที่การชุมนุมครั้งที่สองนั้นได้รับการอนุญาตโดยทางการรัสเซีย ทว่าด้วยจำนวนผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น ทางการไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุม โดยให้เหตุผลว่าการชุมนุมครั้งนี้มีการข่มขู่จะใช้ความรุนแรงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถึงวันประท้วงนาวาลนีก็ถูกจับกุมและจำคุก 30 วันเสียก่อนในวันพุธที่ 25 กรกฎาคม อีกทั้งยังมีการบุกค้นที่พักอาศัยพร้อมควบคุมตัวบรรดาแกนนำพรรคฝ่ายค้านด้วย
เมื่อการประท้วงเข้าสู่สัปดาห์ที่สามในวันที่ 27 กรกฎาคม แม้จะไร้วี่แววบรรดาแกนนำพรรคฝ่ายค้านและมีคำสั่งห้ามชุมนุมจากรัฐบาล แต่กลุ่มผู้ประท้วงยังคงออกมาชุมนุมกัน พร้อมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เป็นธรรม รวมถึงมีการขานขับไล่ปูตินออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย
ทางตำรวจประเมินว่ามีผู้ประท้วงราว 3,500 คน และได้ใช้แก๊สน้ำตาและกระบองบาตองในการสลายการชุมนุม พร้อมจับกุมผู้ประท้วง 1,373 คน มีผู้ชุมนุม88 รายต้องโทษจำคุก แบะ 330 รายถูกปรับ
บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคฝ่ายค้านยังคงเรียกร้องให้มีการชุมนุมต่อเนื่อง โดยมีการตั้งกิจกรรมผ่านเฟซบุ๊ก
ทางด้านนาวาลนีซึ่งถูกคุมขังอยู่นั้นมีอาการแพ้อย่างรุนแรงในวันที่ 28 กรกฎาคม แม้จะไม่มีประวัติภูมิแพ้มาก่อน อนาสตาเซีย วาซิลีวา หนึ่งในแพทย์ประจำตัวของนาวาลนีชี้ว่าเขาไม่ได้เป็นภูมิแพ้ แต่เป็นอาการจากการสัมผัสกับสารเคมีเป็นพิษ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ลูโบฟ โซโบล ทนายนักเคลื่อนไหวชาวรัสเซียซึ่งกำลังอดอาหารประท้วง ถูกนำตัวออกจากแท็กซี่ไปขึ้นรถตู้ของตำรวจก่อนเริ่มการชุมนุมประท้วงได้ไม่นาน
ฝ่ายตำรวจระบุว่าในครั้งนี้มีผู้ชุมนุมประท้วงราว 1,500 คน และถูกจับกุมราว 600 ราย ขณะที่ฟุตเทจวิดีโอการประท้วงชี้ว่ามีผู้ชุมนุมเยอะกว่านั้นมาก โดยในภายหลังตำรวจได้ปล่อยตัวผู้ประท้วงส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทุกคน
ในวันเดียวกันนั้น นาวาลนีซึ่งยังคงถูกคุมขังก็ถูกเจ้าหน้าที่สืบสวนเปิดคดีสืบสวนโดยกล่าวหาว่าเขาตั้งมูลนิธิต่อต้านการคอร์รัปชันขึ้นเพื่อฟอกเงิน 1 พันล้านรูเบิล (ราว 472 ล้านบาท) ทางนาวาลนีชี้ว่าเงินทั้งหมดของมูลนิธินั้นโปร่งใสและได้รับมาจากการบริจาค
ทางด้านวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียยังคงไม่มีการแสดงความเห็นต่อการประท้วงแต่อย่างใด
แม้เดิมทีการชุมนุมจะพุ่งเป้าไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและนายกเทศมนตรีกรุงมอสโก แต่ในการชุมนุมครั้งต่อๆ มาได้มีการกล่าวโจมตีวลาดิเมียร์ ปูติน รวมถึงเรียกร้องให้ลาออกด้วย สะท้อนถึงความนิยมที่ลดลงของประธานาธิบดีรัสเซียผู้นี้
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เลอวาดาเซนเตอร์ (Levada Center) องค์กรอิสระของรัศเซียที่วิจัยด้านสังคมวิทยาและจัดทำสถิติ ได้สำรวจชาวรัสเซีย 1,600 คน พบว่าตั้งแต่ต้นปีนี้มีผู้ยอมรับบทบาทของปูตินเพียง 64 % แม้จะดูมากแต่ก็แทบจะต่ำที่สุดที่เคยมีมาสำหรับปูตินนับตั้งแต่ปี 2000 โดยตัวเลขต่ำสุดอยู่ที่ 63 เปอร์เซ็นต์ในปี 2013 และโดยเฉลี่ยแล้วปูตินได้รับการยอมรับในช่วงปี 2000-2018 เฉลี่ย 75.95 %