ท่ามกลางกระแส 'รักษ์โลก' และการรณรงค์ลดใช้พลาสติก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวย่อมต้องปรับตัวตาม และพยายามชูภาพลักษณ์ Eco-tourism ให้ชัดเจน ซึ่งหนึ่งในจุดหมายปลายทางดังของอาเซียนอย่าง 'บาหลี' ยังถูกวิจารณ์ว่าทำได้ไม่ดีพอ และจำเป็นต้องผลักดันแผนอย่างจริงจังกว่านี้
เกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย ถือเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายการท่องเที่ยวยอดนิยมในอาเซียน และ 1 ใน 3 ของจีดีพีทั้งเกาะเป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม สถานที่ที่เป็นแหล่งรวมนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอย่างบาหลี ยังไม่สามารถตามกระแส 'รักษ์โลก' หรือลดการใช้พลาสติกได้ทัน และจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องเร่งปรับตัว เพื่อยกระดับภูมิทัศน์และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเมืองท่องเที่ยวในระดับเดียวกัน หรือเมืองชายฝั่งที่ขยะพลาสติกมีโอกาสปนเปื้อนน้ำทะเลสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ
ผลสำรวจล่าสุดจาก YouGov ของอังกฤษ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พบว่ากว่าครึ่งของขยะบนเกาะถูกเผาหรือทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ ขณะที่ ชาวอินโดนีเซียผู้ตอบแบบสำรวจ 18 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าสภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมจริง 'แต่มนุษย์ไม่ใช่สาเหตุของทุกอย่าง' ซึ่งคอลัมนิสต์สายท่องเที่ยวอย่าง เมอร์ซิเดส ฮัตตัน จากสำนักข่าวเซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ กล่าวถึงผลสำรวจนี้ว่า 'น่ากังวลใจอย่างยิ่ง' เพราะอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตแก๊สเรือนกระจกมากที่สุด และสร้างมลพิษในมหาสมุทรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ยิ่งไปกว่านั้น เมืองหลวงอย่างกรุงจาการ์ตา ยังมีแนวโน้มที่จะจมทะเล จากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ภายในปี 2050 ด้วย
ที่ผ่านมา บาหลีถูกยกให้เป็นหนึ่งในเกาะแห่งการท่องเที่ยวที่หรูหราอย่างยั่งยืน (Sustainable Luxury) ที่สุดจากกว่า 17,000 เกาะของประเทศ นอกจากนี้ ยังถูกอ้างถึงว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่เหล่าคนรักษ์โลกมา 'พักได้อย่างไม่ต้องรู้สึกผิดบาป' (Guilt-free Retreats) อีกด้วย เท่ากับว่า บาหลีถูกกล่าวถึงหรือนำเสนอตัวเองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาตลอด จึงเกิดคำถามตามมาว่า บาหลี หรือสถานที่ท่องเที่ยวดังแต่ละแห่ง 'กรีน' เท่าที่ตัวเองโฆษณาหรือไม่ และในกรณีนี้ บาหลีก็ควรต้อง 'เร่งเครื่อง' อย่างสุดกำลัง เพื่อที่จะเป็นได้อย่างที่นักท่องเที่ยว หรือแม้แต่ตัวรัฐบาลท้องถิ่นเอง คาดหวังจะให้เป็น
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าผลสำรวจชี้ว่า กว่าครึ่งของขยะในบาหลีถูกเผาหรือเทลงสู่แหล่งน้ำ เหล่านี้คิดเป็นขยะพลาสติกมากถึง 33,000 ตันต่อปี หรือเทียบได้กับน้ำหนักของรถเมล์สองชั้น 2,609 คันรวมกัน ทำให้เกิดเป็น 'เดอะ บาหลี พาร์ตเนอร์ชิป' (The Bali Partnership) องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้อินโดนีเซียสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลและมหาสมุทรอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2025 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ โครงการ 'บาหลี พาร์ตเนอร์ชิป' ซึ่งสนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ ยังสำรวจพบด้วยว่าจากนักท่องเที่ยวจากในและต่างประเทศ 16 ล้านคนต่อปีของบาหลี ทิ้งขยะมากกว่าคนท้องถิ่นราว 3.5 เท่าต่อวัน หรือก็คือ ขยะจากนักท่องเที่ยวคิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณขยะจากทั้งเกาะ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น่าตกใจอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องเร่งทำวางแผนแก้ไข โดยไม่เพียงต้องทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่เท่านั้น แต่ต้องรณรงค์และวางมาตรการให้นักท่องเที่ยวเคารพร่วมลดปริมาณขยะอย่างจริงจังด้วย
คอลัมนิสต์ เมอร์ซิเดส ฮัตตัน ระบุในบทความของเธอว่า ปัจจุบัน บาลีมีแผนปฏิบัติการ 'กรีน' อยู่ร่วม 400 แผน แต่ในทางปฏิบัติยังจำเป็นต้องขยายให้ครอบคลุมในจุดที่ 'วิกฤติ' ที่สุดกว่านี้ เพื่อให้ตรงจุดและแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว เช่น ถ้าแผนกรีนที่ว่าเน้นที่เขตสำคัญ 15 จาก 57 เขตในบาหลี จะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกลงแหล่งน้ำได้ 44 เปอร์เซ็นต์
ระหว่างนี้ ทางการบาหลีได้ประกาศแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปแล้ว ตั้งแต่เมือวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา และจะมีผลอย่างเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งปีหลังนี้ หลังอยู่ในช่วงผ่อนผันมาได้ 6 เดือน เพื่อให้ประชาชน 'เตรียมใจ' และปรับตัวได้ทันกับไอเดียนี้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีระยะเวลา 'เตรียมใจ' ที่ว่า แต่ระบบการจัดการปฏิกูลของบาหลียังคงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และการพัฒนาที่ดินในบริเวณยังส่งผลให้แม่น้ำหลายสายแห้งขอด กลายเป็นปัญหาที่ทับถม ต่อเนื่องจากเรื่องขยะมูลฝอยอีกทีหนึ่ง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ความเจริญของเกาะบาหลี ที่ยังจะเจริญขึ้นอีกเรื่อย ๆ ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแม้แต่น้อย
บากัส มันดารา ตัวแทนหน่วยจัดการปฏิกูลของบาหลี กล่าวทิ้งท้ายไว้ได้น่าสนใจว่า 'บาหลีเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้' จากความนิยมที่ชาวโลกมีให้ และการดำเนินมาตรการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพของบาหลีจะอยู่ในสายตานานาชาติ ตลอดจนสามารถเป็นแบบอย่างที่โน้มนำให้แหล่งท่องเที่ยวอื่นทำตามได้อย่างดี หลังจากนี้จึงอยู่ที่ว่า บาหลีจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในแบบที่ 'ควร' เป็นได้หรือไม่เท่านั้น