การประกาศรางวัลลูกโลกทองคำเมื่อวานนี้ (7 ม.ค.62) ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนมีคอลัมนิสต์ในฮอลลีวูดออกมาให้ความเห็นว่า เวทีนี้ยังก้าวไม่พ้นตัวเอง และยังทำสิ่งที่ตัวเองรณรงค์ไม่ให้ทำ
หลายคนได้ติดตามการประกาศรางวัลลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 76 ไปเมื่อวานนี้ (7 ม.ค.62) และทราบผลผู้ชนะกันไปแล้ว ล่าสุด มีรายงานว่า การถ่ายทอดงานในปีนี้ได้เรตติงผู้ชมผู้ใหญ่กลุ่มอายุ 18 ถึง 49 ปี ไป 5.2 และมีจำนวนผู้ชมราว 18.6 ล้านคน ซึ่งถือว่าน่าพอใจและไม่น่าพอใจในคราวเดียว เพราะกลุ่มผู้ชมหลัก (18 ถึง 49 ปี) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 4 % แต่ยอดผู้ชมรวมกลับลดลง 2 % แม้ผู้เข้าชิงในแต่ละสาขาจะค่อนข้าง 'แมส' ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นปีที่ได้รับคำวิจารณ์มากที่สุด ในด้านความเหมาะสมของผู้เข้าชิง ความเหมาะสมของสาขารางวัลกับผลงานที่ได้รับเลือกให้เข้าชิง รวมไปถึงผู้ชนะในรางวัลหลัก ที่ค่อนข้างผิดคาด และดูจะเป็นการจงใจผลักดันผลงานใดผลงานหนึ่งมากเกินไป
ลูกโลกทองคำ เป็นการประกาศรางวัลที่จัดโดย สมาคมสื่อต่างประเทศฮอลลีวูด ซึ่งโดดเด่นตรงที่แบ่งสาขารางวัลสำหรับภาพยนตร์ออกเป็น 'ดรามา' กับ 'มิวสิคัลหรือคอเมดี' ซึ่งในปี 2016 ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เมื่อจัดให้ The Martian (ชื่อไทย: กู้ตาย 140 ล้านไมล์) ภาพยนตร์ดรามา-ไซไฟ ที่นำแสดงโดยแมตต์ เดมอน ได้เข้าชิงในสาขาภาพยนตร์มิวสิคัลหรือคอเมดียอดเยี่ยม รวมถึงเดมอนก็เข้าชิง นักแสดงนำชายมิวสิคัล/คอเมดียอดเยี่ยมเช่นกัน The Martian ชนะในทั้ง 2 สาขานี้ไป
จนในครั้งนี้ การจัดให้ผลงานหนึ่ง ๆ เข้าชิงในฝั่งดรามา และมิวสิคัล/คอเมดี ก็เกิดความลักลั่นย้อนแย้งอีกครั้ง และยิ่งน่าสับสนไปกว่าเดิม เมื่อผู้เข้าชิงภาพยนตร์ดรามายอดเยี่ยม ได้แก่ Bohemian Rhapsody , A Star is Born , If Beale Street Could Talk , Black Panther , BlacKkKlansman ขณะที่ สาขามิวสิคัล/คอเมดียอดเยี่ยม มี Green Book , Mary Poppins Returns , Crazy Rich Asians , The Favourite , Vice
ยิ่งไปกว่าการเข้าชิง คือ การได้รับรางวัล ที่ Bohemian Rhapsody ภาพยนตร์ดรามาชีวประวัติวง Queen ที่เต็มไปด้วยเพลงฮิตติดหู เป็นผู้ชนะในสาขาดรามายอดเยี่ยม ขณะที่ Green Book ภาพยนตร์ดรามาชีวประวัติจากเรื่องจริงเช่นกัน ที่ไม่มีความคอเมดีหรือมิวสิคัลอยู่เลย (แม้จะเป็นผลงานที่เล่าประเด็นได้อย่างสนุก) กลับชนะในสาขามิวสิคัล/คอเมดียอดเยี่ยมไป
นอกเหนือจากคำวิจารณ์เรื่อง 'การสลับที่ทาง' ของผลงานที่เข้าชิง และความเหมาะสมของผู้ชนะแล้ว สื่อ The Week ยังออกมาวิจารณ์ 'ลูกโลกทองคำ' โดยรวมว่า 'fails to practice what it preaches' หรือก็คือ ไม่สามารถทำอย่างที่ตัวเองสอนได้ โดยระบุว่า ผู้ตัดสินรางวัล หรือก็คือนักข่าว 90 คน ที่โหวตลงคะแนน ยกย่องผลงานที่ขัดแย้งกับความเชื่อและการรณรงค์ต่าง ๆ ในฮอลลีวูด เช่น Green Book ที่แม้จะหยิบประเด็นสีผิวมีเล่นได้อย่างย่อยง่ายและสนุก แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปจะพบว่า Green Book เป็นภาพยนตร์ที่ White-washing โดยไม่ใช่ที่การแคสต์นักแสดง แต่เป็นการดำเนินเรื่อง คือเป็นเรื่องของคนดำ แต่เล่าไปเล่ามากลายเป็น 'แกนเรื่อง' อยู่ที่คนขาว คอลัมนิสต์จาก The Week จึงตั้งคำถามสำคัญว่า 'ทำไมเรื่องที่ฮีโร่เป็นคนดำถึงถูกเขียนให้คนขาวที่อยู่ข้าง ๆ เขาเป็นฮีโร่แทน?' ในทำนองเดียวกับผลงานเมื่อปี 2011 อย่าง The Help
ขณะที่ Bohemian Rhapsody ก็กำกับโดย ไบรอัน ซิงเกอร์ ซึ่งถูกร้องเรียนด้านพฤติกรรมไม่เหมาะสมมาแล้วหลายครั้ง ทั้งการปาร์ตี้กับเด็กชายอายุน้อย และการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ของผู้เข้าร่วมงาน (ที่สวมใส่สายรัดข้อมือ Time's Up - การรณรงค์เพิ่มความเท่าเทียมและการสนับสนุนผู้หญิงในฮอลลีวูด) กลายเป็นว่า เมื่อมองในทางหนึ่งแล้ว การมอบรางวัลลูกโลกทองคำปีนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับสำนวนที่ว่า 'ปากว่าตาขยิบ' และการรณรงค์ต่าง ๆ ก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปถึงไหนเลย
ก่อนหน้านี้ อาจารย์ฮาเวิร์ด ซูเบอร์ จากแผนกภาพยนตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ที่ลอสแองเจลิส เคยออกมาวิจารณ์ HFPA (Hollywood Foreign Press Association) ผู้โหวตรางวัลทั้งหมดว่าเป็น "a corrupt little band" หรือ ก๊กเหล่าเล็ก ๆ ที่ฉ้อฉล มาแล้ว สอดคล้องกับที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะเดียวกันนี้มานานหลายทศวรรษ ซึ่งหากผลการประกาศรางวัลลูกโลกทองคำยังคงวนเวียนอยู่กับผลงานที่ 'มีตำหนิ' หรือไม่เหมาะสม หรือแม้แต่ไม่คู่ควรเช่นนี้ ก็จะเท่ากับว่าฮอลลีวูดยังย่ำอยู่กับที่ แม้ว่าคนในวงการจำนวนมากจะมีปากมีเสียงและออกมารณรงค์เพื่อความถูกต้องกันมากมายแล้วก็ตาม