เฟซบุ๊กเผชิญวิกฤติความน่าเชื่อถือครั้งใหญ่หลังเกิดเหตุข้อมูลของผู้ใช้งานราว 5 ล้านคนรั่วไหล และมีท่าทีเป็นประโยชน์ต่อแคมเปญการหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์
เฟซบุ๊กกำลังเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่หลังจากมีประเด็นอื้อฉาวเกี่ยวเรื่องของข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่คาดว่าน่าจะมีจำนวนรวมกันถึง 5 ล้านคนคนที่รั่วไหลออกไปจากบริษัท Strategic Communication Laboratories หรือ SCL รวมถึง Cambridge Analytica ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเมืองภายใต้ SCL ทำให้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเฟซบุ๊กได้ทำการสั่งปิดบัญชีของ Cambridge Analytica ไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ขององค์กรเฟซบุ๊กอย่างมากเพราะทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าการเข้าถึงข้อมูลผู้อื่นนั้นมีความง่ายดายเกินไปหรือไม่ เนื่องจากการรั่วไหลของข้อมูลนี้เกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีการแฮ็กใดๆทั้งสิ้น ทำให้มูลค่าหุ้นของเฟซบุ๊กล่าสุดร่วงลงอย่างรุนแรงเกือบ 6.77% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 37,000 ล้านดอลลาร์
เหตุการณ์การรั่วไหลของข้อมูลนี้เกิดขึ้นด้วยขั้นตอนที่แสนจะง่ายดาย ด้วยการที่ ดร.อเล็คแซนด์ โคแกน อาจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้สร้างแบบสำรวจขึ้นมาและมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กลงชื่อเข้าไปทำแบบสำรวจนี้ราว 270,000 คน ซึ่งเฟซบุ๊กก็ได้ส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานทั้งหมดรวมถึงข้อมูลของเพื่อนๆของผู้ทำแบบสำรวจผ่านระบบ API ให้กับระบบกรอกแบบสำรวจของดร.โคแกน ทำให้ตัวเลขของเจ้าของข้อมูลทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ 5 ล้านคนเลยทีเดียว
หลังจากที่ดร.โคแกนได้รับข้อมูลทั้งหมดมาแล้ว เขาก็ได้ทำการส่งต่อให้กับทีมแคมเปญหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการลงสมัครเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯเมื่อปี 2016 ซึ่งขัดต่อนโยบายการทำงานของเฟซบุ๊กที่ต้องการจัดสรรค์ข้อมูลให้กับบุคคลที่ 2 เท่านั้น ไม่ใช่การกระจายข้อมูลทั้งหมดไปอีกทอดหนึ่งเพื่อบุคคลที่ 3 ดังเช่นกรณีนี้ แต่หลายฝ่ายมองว่าแม้เฟซบุ๊กจะมีนโยบายไม่ส่งข้อมูลต่อให้บุคคลที่ 3 แต่เฟซบุ๊กจะมั่นใจได้อย่างไรเมื่อข้อมูลไปอยู่ในมือของบุคคลที่ 2 แล้วจะไม่มีการส่งข้อมูลนั้นต่อโดยไม่แจ้งเฟซบุ๊ก
หนึ่งในทีมงานของเฟซบุ๊กยอมรับกับผู้สื่อข่าวของ CNN ว่าเป็นเรื่องยากมากจนถึงขั้นที่อาจจะเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าเฟซบุ๊กจะสามารถตรวจสอบได้อย่างละเอียด 100% ว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานที่ทางเฟซบุ๊กได้ส่งให้กับบรรดาเดเวลลอปเปอร์ นักการตลาด หรือผู้ผลิตโฆษณา จะนำไปใช้ทำอะไรต่อหลังจากนั้น โดยยกตัวอย่างว่ามันก็เหมือนกับการขายบุหรี่ให้กับใครสักคน ซึ่งคนขายไม่มีทางรู้ได้ว่าคนซื้อจะนำบุหรี่นั้นไปขายต่อหรือแบ่งให้กับใครอีกบ้าง
ขณะนี้แม้ทาง Cambridge Analytica จะออกมาแถลงการณ์ยืนยันว่าได้ลบข้อมูลผู้ใช้งานทั้งหมดไปแล้วพร้อมการเซ็นต์เอกสารยืนยันอีกด้วย แต่เฟซบุ๊กก็ยังเดินหน้าตรวจสอบต่อไป ทั้งด้วยวิธีการใช้มนุษย์ในการตรวจสอบข้อผิดพลาดหรือการรั่วไหลที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการใช้ระบบอัตโนมัติของทางบริษัทในการตรวจสอบด้วย