นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นเตรียมนำสเต็มเซลล์ iPS มาใช้รักษาโรคพาร์กินสันเป็นครั้งแรกในโลก โดยจะเริ่มทดสอบกับมนุษย์จริงในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
เมื่อวานนี้ (30 ก.ค.) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ประกาศว่าจะเริ่มทดลองการรักษาทางคลินิกกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน โดยนำสเต็มเซลล์ที่ถูกปรับแต่งมาใช้รักษาเป็นครั้งแรกในโลก
สำหรับโรคพาร์กินสันเกิดจากการขาดโดพามีน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่เกิดจากเซลล์สมอง จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวช้า สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้อเกร็ง รวมไปถึงอาการสั่น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันราว 150,000 คนในญี่ปุ่น
ก่อนหน้านี้มีนักวิจัยจำนวนมากที่พยายามค้นคว้าหาวิธีที่จะนำสเต็มเซลล์มาช่วยทำให้การผลิตสารสื่อประสาทกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ ได้เปิดเผยว่า ทีมงานได้ประสบความสำเร็จในทดลองใช้เซลล์ iPS หรือ Induced Pluripotent Stem Cell ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่กลายสภาพเป็นเซลล์อื่นได้จากการชักนำ มาช่วยฟื้นฟูการทำงานของเซลล์สมอง เพื่อรักษาลิงที่ป่วยด้วยโรคที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย
จุน ทากาฮาชิ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า การทดลองรักษาทางคลินิกในมนุษย์จะเริ่มวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยจะปลูกถ่ายเซลล์ประสาท iPS ที่สร้างโดพามีนได้ ไปยังสมองของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน