วันที่ 19 เม.ย. ที่กระทรวงการต่างประเทศ นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ตะวันออกกลาง หลังอิสราเอลเปิดฉากโจมตีทางอากาศที่สถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น และอิหร่านได้ตอบโต้กลับด้วยโดรนจำนวน 300 ลูกนั้น
นิกรเดช กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือคนไทยในกรณีฉุกเฉิน เพื่อหาช่องทางและแนวทางในการลำเลียงอพยพคนไทยไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยได้มีการติดต่อไปทางเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล และ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เพื่อดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ นิกรเดช ยังระบุอีกว่า จากรายงานที่ได้รับมานั้นมีจำนวนคนไทยทั้งสิ้น 28,000 คนที่อยู่ในพื้นที่ตะวันออกกลาง และมีคนไทยในอิหร่าน 300 คน ซึ่งการปะทะกันในห้วงที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ได้ทราบจากรายงานว่ายังไม่มีคนไทยได้รับผลกระทบใดๆ
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยังระบุถึงจำนวนตัวประกันชาวไทยที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวนั้น ยังคงได้รับรายงานว่ามีจำนวน 8 คน และยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าสถานการณ์ในเมียนมาว่า กระทรวงการต่างประเทศเฝ้าระวังเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างกองทัพ และความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ลี้ภัย โดยล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ด้านเมียนมาโดยตรง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดตั้ง โดยคาดว่า จะประชุมในสัปดาห์หน้า
นิกรเดช กล่าวว่า ฝ่ายไทยเน้นย้ำความสำคัญประเด็นมนุษยธรรมลำดับต้น พร้อมคุยทุกฝ่าย หากมีการร้องขอให้ไทยไปคุยด้วย และยินดีหากแต่ละฝ่ายเห็นประโยชน์ที่ต้องการให้ไทยเข้าไปหารือ โดยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ไทยสนับสนุนการพูดคุยเพื่อการปรองดอง ใน 3 ประเด็นหลัก คือสันติภาพ ความมั่นคง เอกภาพ และอยู่ระหว่างการพิจารณา แนวทางที่จะเพิ่มและขยายการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยการพูดคุยกับองค์การระหว่างประเทศตามแนวชายแดน ซึ่งมีแผนในการแลกเปลี่ยนกันใน 1 - 2 สัปดาห์ข้างหน้า
นิกรเดช ยืนยันว่า ขณะนี้สถานการณ์ชายแดนไทยเรียบร้อยปกติ และไม่มีผลกระทบเข้ามาฝั่งไทย ผู้ลี้ภัยสงครามก็ยังไม่มี ตอนนี้สถานการณ์เกิดในฝั่งเมียนมา การให้ความช่วยเหลือมนุยธรรม คือต่อยอดสิ่งที่ทำครั้งที่แล้ว คือการช่วยเหลือผ่านองค์กรต่าง ๆ เข้าไปยังผู้ได้รับผลกระทบในเมียนมาเท่านั้น ไม่ได้เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการทะลักเข้ามาแต่อย่างใด
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาจะดีขึ้นใช่หรือไม่ หลังรัฐบาลทหารเมียนมาย้ายตัว อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และอู วิน มยิน อดีตประธานาธิบดีเมียนมา ออกจากเรือนจำไปที่บ้านพักส่วนตัว
นิกรเดช ระบุว่า มีการประเมินสถานการณ์ทั้งสองเรื่อง ทั้งเหตุการณ์ที่ชายแดน และการปล่อยตัว เราประเมินว่า ทั้งสองสถานการณ์แยกออกจากกัน สถานการณ์ที่เมืองเมียวดีเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นและตอนนี้มีการเจรจาภายในฝ่ายเมียนมาอยู่
ส่วนการย้ายตัวออกจากเรือนจำนั้นเป็นเรื่องที่แยกออกจากกัน รัฐบาลเมียนมามีแนวทางการลดโทษ เช่นเดียวกับประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ย้ายมากักบริเวณ ก็อยู่ในบริบทการลดโทษ ซึ่งเราติดตามอย่างใกล้ชิด