เมื่อสัญชาตญาณความกลัวสิ่งที่ไม่รู้จักหรือไม่คุ้นชินอยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างช้านาน 'วอยซ์' จึงถือโอกาสนี้คุยกับ 'พัทธมญส์ กาญจนพันธุ์' หรือ ขิม เจ้าของเพจตามติดชีวิตอินเดีย ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 300,000 บัญชี ทั้งยังมีหนังสือเป็นของตัวเอง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวการไปใช้ชีวิตในประเทศซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวชวนน่าเข้าใจผิด
ภาพจำที่คนไทยมีต่ออินเดียอาจไม่เรียกว่าผิดไปเสียทั้งหมด แต่เรียกว่า "ถูกต้องครบถ้วน" ไม่ได้แน่ๆ
ประสบการณ์ทั้งหมดที่กลายมาเป็นเรื่องเล่าผ่านเพจส่วนตัวตลอดจนหนังสือถึง 2 เล่ม รวมถึงวันที่มานั่งทานอาหารอินเดียและถ่ายทอดสิ่งหล่านั้นให้เราฟัง มีจุดเริ่มต้นจากการที่เธอต้องการไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมหลังเข้าทำงานให้กับหัวหน้าชาวต่างประเทศและประสบปัญหาด้านการสื่อสาร
ขิมเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอใช้เวลานานไม่นานกับการพิจารณาข้อดีข้อเสียว่าควรไปเรียนภาษาอังกฤษที่ประเทศไหนดี แต่สรุปความโดยง่ายว่า การไปอินเดียเพื่อเรียนภาษาระยะสั้นราว 3 เดือน ใช้เงินราวๆ 50,000 บาทในช่วงเวลาดังกล่าว (ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว) ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าการวางแผนไปเรียนภาษาในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษมาก
ก่อนเท้าทั้งสองข้างจะเหยียบดินแดนภารตะ เธอไม่ได้มีชุดความคิดต่างจากคนอื่นมากนักที่มองว่าอินเดียทั้งน่ากลัวและอันตราย แต่ก็บอกตัวเองว่าไปลองดูก่อนสัก 3 เดือน ถ้าไม่ชอบค่อยกลับบ้านก็ไม่เสียหาย แต่แล้วจาก 3 เดือน ก็กลายเป็น 5 เดือน เรื่อยมาจนได้ปริญญาโท 1 ใบ
ระหว่างหยิบ 'ซาโมซ่า' จากร้าน Royal India ขึ้นทานไปพลางๆ รออาหารจานหลัก ขิม เล่าต่อถึงสารพัดเหตุการณ์ในต่างแดนโดยไม่ลืมสรุปให้เราฟังตั้งแต่ก่อนเล่าเรื่องว่า ท้ายสุดแล้วเธอได้ทักษะภาษาอังกฤษน้อยกว่าประสบการณ์ที่นำมาเล่าให้คนอื่นๆ ฟังเยอะมาก เหตุผลประการแรกเป็นเพราะอินเดียไม่ใช่ประเทศที่มีความโดดเด่นด้านการไปเรียนภาษาอังกฤษในระดับต้นๆ ของโลก แต่เหตุผลหลักเป็นเพราะ "ซ่า"
ไม่นานหลังจากไปเริ่มใช้ชีวิตที่อินเดีย เธอไปเช่ามอเตอร์ไซค์มาขับทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ขับรถแข็งมาก จนมีวันนึงระหว่างที่กำลังขับรถไปบนถนนชนบทแถวที่พักของเธอ อยู่ดีๆ ก็มีรถมาขับตัดหน้าไปจนเธอเสียหลักและรถล้มลงไป
ขิมเล่าว่า ในความทรงจำของเธอตอนกำลังขับรถถนนโล่งมากและแทบไม่มีใครอยู่ข้างทาง แต่เมื่อเธอลืมตาขึ้นมาหลังรถล้มไปแล้วกลับมีใครไม่รู้มามุงรอบตัวเป็น 10-20 คน ทั้งมาช่วยปัดกระโปรงให้ จับให้ทั้งคนและมอตอร์ไซค์ลุกขึ้นจากกลางถนน ขณะที่อีกคนวิ่งตามไปด่าคนขับรถที่ตัดหน้าให้
"ทุกคนคือแบบเป็นเดือดเป็นร้อนแทน เป็นห่วงเป็นใย เขาไม่ได้มามุงยืนดูเฉยๆ เขามาช่วยเลย บางคนถามกลับบ้านได้ไหม ไม่ต้องร้อง โทรหาแม่โทรหาพ่อเลย แบบหยิบโทรศัพท์มากด ไหนเบอร์พ่อ"
เมื่อประสบการณ์รถชนกลางถนนพร้อมคนมารุมช่วยจบลง ขิมพาเราไปต่อกับเรื่องราว 'โกงๆ' โดยประสบการณ์แรกมาจากเรื่องเล่าของลูกเพจเธอที่ชี้ว่า พอลูกเพจคนนั้นไปถึงอินเดีย เธอเรียกแท็กซี่เพื่อจะไปต่อรถ แล้วพอขึ้นไปสักพักแท็กซี่ก็ทำท่าว่าจะเรียกเงินเพิ่ม แต่ตัวลูกเพจคนนั้นก่อนหน้านี้เพิ่งโดนโกงมาจนไม่รู้จะทำยังไงต่อแล้วกลายเป็นนั่งร้องไห้บนรถแท็กซี่คันนั้นเฉยเลย
ลูกเพจของขิมอธิบายต่อว่า หลังจากที่เธอปล่อยโฮเต็มที่เพราะจนปัญญากับการโดนโกง คนขับแท็กซี่ที่กำลังจะโกงก็เปลี่ยนบททันที นอกจากจะไม่เก็บเงินเพิ่มแล้ว ยังขับรถไปส่งลูกเพจถึงที่พร้อมยืนรอรถบัสที่เธอต้องไปขึ้นต่อ
"เธอขึ้นคันนี้นะ ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องร้องไห้ ไม่มีใครโกง" คำพูดจากแท็กซี่ที่ตอนแรกจะโกงค่าโดยสาร
จากเรื่องเล่าของลูกเพจ ขิมวกกลับมายังประสบการณ์ของเธอเองว่า เมื่อเธอไปอยู่อินเดียได้สักพักก็หันมาทำเอเจนซี่ส่งเด็กไทยไปเรียนที่สถาบันภาษาในอินเดีย โดยจะได้ค่านายหน้าประมาณ 10,000 บาท แต่อาจารย์ที่สนิทกับเธอไปคุยกับสถาบันภาษาว่าเขาจะเป็นคนนำเงินจำนวนนี้ไปให้เธอเอง ทว่าเงินจำนวนนั้นกลับไม่ถึงมือเธอ
เธอโทรไปคุยกับอาจารย์คนนั้นว่าทำไมทำแบบนี้ เงินจำนวนนั้นเยอะมากสำหรับคนที่ไม่มีงานประจำทำและตัวเธอก็เดือดร้อนมาก เธอได้คำตอบจากอาจารย์คนนั้นว่า :
"เราเกลียดเขาไม่ลง ต้องการเงินอยากได้เงิน แต่เอาเงินกู แต่ขอโทษ แต่รักกู แต่ไม่คืน มันมีความสับสน"
ชีวิตที่อินเดียของพัทธมญส์ยังมีอีกมากมายหลายมิติ แต่เธอใช้คำจำกัดความกว้างๆ ว่า "ชีวิตมันต้องอยู่อย่างนี้" พร้อมบรรยายความรู้สึกส่วนตัวว่า เธอไม่มองว่าคนอินเดีย 'ร้าย' มาจากจิตใต้สำนึกหรือนิสัยส่วนลึก แต่เป็นเพราะโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจรวมไปถึงชนชั้นวรรณะบีบให้เขาเหล่านั้นไม่มีทางเลือกอื่น
ชุมชนในอินเดียอยู่ผสมรวมกันทั้งคนรวยและคนจน ทว่าชนทั้ง 2 กลุ่มมีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขณะที่เดินออกมาจากบ้านแล้วมองเห็นกัน คนรวยกลับมีร้านอาหาร โรงเรียน สถานที่พักผ่อนหย่อนใจเป็นของตัวเอง ขณะที่คนชนชั้นล่างของประเทศไม่มีแม้แต่ห้องน้ำภายในบ้านของตนเอง ยังไม่นับว่าคนจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตามข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส์พบว่า 10 อันดับผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศอินเดียมีมูลค่าความมั่งคั่งเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300,000 ล้านบาทด้วยกันทั้งสิ้น
มูเกช อัมบานี (Mukesh Ambani) มหาเศรษฐีผู้รั้งอันดับหนึ่งมีมูลค่าความมั่งคั่งสูงถึง 88,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการประเมินรายได้ต่อหัวของประชากรอินเดียของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประจำปี 2564 อยู่เพียง 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี หรือประมาณ 60,000 บาท/คน/ปี หรือคิดเป็น 5,000 บาท/คน/เดือน
ขิมเล่าว่า ตอนกลับไปเรียนต่อปริญญาโทเธอมีโอกาสได้เรียนทั้งในมหาวิทยาลัยเอกชนและรัฐบาลซึ่งทำให้เธอได้เห็นว่า อินเดียที่คนไทยเห็นคือ ภาพประชากร 70% ของประเทศที่อยู่ในสถานะยากจน แต่เมื่อใครก็ตามเข้าไปอยู่ในกลุ่ม 30% ที่ 'มีเกินจะกิน' คุณอาจจะได้รับรู้ว่าการรวยจนขนลุกเป็นยังไง
เมื่อกลับมาที่เพื่อนของขิมในมหาวิทยาลัยรัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นคือเธอเป็นคนเดียวในภาควิชาที่มีรถขับ ถึงแม้ว่ารถนั้นจะเป็นเพียงรถมือสองที่ซื้อต่อมาในราคาถูกสำหรับประเทศไทย แม้แต่อาจารย์หรือบุคลากรในคณะก็ไม่มีใครมีรถขับและเดินทางกันโดยรถโดยสารสาธารณะเป็นหลัก เมื่อถึงเวลาเลิกเรียน ขิมเลยต้องกลายเป็นโชเฟอร์ขับรถให้เพื่อนนั่งวนรอบโรงเรียน เพราะตามปกติพวกเขาไม่มีโอกาสนั่งรถส่วนตัว
"จริงๆ แล้วประเทศอินเดียโดยรวมเป็นอย่างนี้ มันมีกลุ่มคนที่ได้รับโอกาส และบทจะเจริญและรวย เขารวยกว่าเราตั้งเยอะ แต่ด้วยความเหลื่อล้ำทำให้ 70% กลายเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่เป็นประเทศมหาอำนาจได้ เป็นประเทศที่มีคนเยอะ มีศักยภาพ คนเก่ง คนฉลาด ภาษาอังกฤษก็ได้ แล้วได้ตั้งหลายภาษา แต่กลับกลายเป็นว่า พอความเหลื่อมล้ำมันมากดไว้ ทำให้ทั้งๆ ที่คนเยอะ ประชากรเยอะ ทรัพยากรเยอะ แต่กลายเป็นไม่มีคุณภาพอะไรเลย"
แม้จะไม่ตั้งใจนำสิ่งที่เห็นจากต่างประเทศเข้ามาเทียบกับบ้านเรา แต่ความสะท้อนใจไม่ใช่เรื่องที่เลี่ยงได้ ขิมชี้ว่า อินเดียกับไทยไม่ได้ต่างกันแต่อย่างใดในมิติของความเหลื่อมล้ำที่คนรวยก็รวยขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่คนจนแทบไม่มีอะไรเหลือแล้ว ประเด็นการทุจริตก็มีไม่ต่างกันอีก ทว่าเธอยังมีความหวังที่ไทยจะไม่เดินไปสู่จุดที่อินเดียเป็นในปัจจุบัน
สำหรับไทย บุคคลที่มีมูลค่าความมั่งคั่งสูงสุดในประเทศคือครอบครัวเจียรวนนท์ด้วยเม็ดเงินรวมประมาณ 27,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 822,000 ล้านบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรไทยอยู่ที่ 7,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี หรือประมาณ 228,000 บาท/คน/ปี
"อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็นขนาดนั้น" คือคำที่ขิมหยิบมาใช้กับเหตุการณ์ของไทย พร้อมยกเหตุผลประกอบว่า จริงอยู่ที่อินเดียมีการประท้วง และที่ผ่านมากลุ่มเกษตรกรออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทว่า เมื่อนับจำนวนประชากรตามข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2561 ราวๆ 1,350 ล้านคน มีพลเมืองส่วนน้อยเท่านั้นที่ออกมาทวงถามสิทธิของตัวเอง
"บางคนเกิดมาจนก็อยู่อย่างนี้แหละ เขาให้อะไรมาก็เอา มันก็มีร้านอาหารสำหรับคนจนหนิก็ไปกินร้านนั้นสิ มันก็มีก๊อกน้ำสาธารณะที่รัฐบาลตั้งให้ก็เอาขวดน้ำไปกรอกเวลาจะขับถ่ายก็เอาขวดฉีดตูด ไม่เห็นจะต้องสร้างห้องน้ำในบ้าน ไม่เห็นจะต้องเรียกร้องให้มีอะไรอย่างนี้ คนเขาอยู่แค่นี้ ไม่มีเงินหรอ งั้นก็ไปขโมย ไม่มีเงินหรอ งั้นก็ไปขอทาน เขาปล่อยให้ตัวเองเป็นอย่างนี้ ยอมรับกับสิ่งที่มันไม่ควรจะเป็น ยอมรับไปนานๆ จนมันกลายเป็นสิ่งที่โอเค ทั้งๆ ที่มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้ ควรจะพัฒนา ควรจะแก้ไข แต่คนกลับชิน กลับยอมรับได้กับสิ่งนี้"
จากเรื่องเล่าและการตีความผ่านประสบการณ์ส่วนตัว ขิม กลับมาที่วลีของคนไทย "เจองูกับแขกให้ตีแขกก่อนงู" ว่าทุกที่ในโลกมีทั้งแง่ดีและไม่ดีผสมด้วยกันทั้งนั้น แล้วทำไมคนไทยหลายๆ คนยังตั้งแง่ดูถูกคนอื่นอยู่ตลอดเวลา
การเปิดใจและมองให้เห็นถึงต้นตอปัญหาว่า "เขาไม่ได้แย่เพราะเขาจิตใจแย่ เพราะพ่อแม่เขาเป็นคนแบบนั้น เพราะสันดานเขาแย่" แต่เป็นเพราะสภาพสังคม ความเหลื่อมล้ำอะไรทุกอย่างมันบีบให้เขาต้องดิ้นในหนทางไหนก็ได้ จะถูกจะผิดอะไรเขาก็ทำหมด แค่หาหนทางเอาตัวรอด
"ไม่อยากให้เหมารวมว่าอินเดียน่ากลัวหรือแย่ จริงๆ แล้วมันก็เหมือนไทย เป็นประเทศนึงที่มีเรื่องดีๆ เยอะเหมือนกัน แล้วก็มีด้านไม่ดี ฝากไว้อย่าไปตีหัวแขก ตีงูนี่แหละถูกแล้ว"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;