ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ดิจิทัลไต้หวัน-ไทย ทำอะไรต่างกัน? 'ออเดรย์' สร้างศูนย์ต้าน fake news เน้นให้ความรู้ประชาชนเรื่องโควิด-19 ด้าน 'พุทธิพงษ์' ส่ง 5 แสนยูอาร์แอลผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ไม่กี่ปีก่อนหน้าวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 'ไต้หวัน' ถูกประเมินว่ากำลังเดินหน้าเข้าสู่ความตายทางเศรษฐกิจ เมื่อยักษ์ใหญ่จำนวนมากย้ายฐานไปตั้งโรงงานในประเทศจีนแทน ค่าแรงคนงานคงที่ การเติบโตชะลอลง ทว่าในปี 2563 'ไต้หวัน' อาจเป็นเศรษฐกิจไม่กี่แห่งในโลกที่มองเห็นจีดีพีเป็นบวก 


รมว.'ดิสรัปชัน'

'ออเดรย์ ถัง' หญิงข้ามเพศผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของไต้หวันคนแรก คือปัจจัยสำคัญในเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ครั้งนี้หลังเธอตัดสินใจนำเทคโนโลยีระบบติดตาม-ตรวจสอบการสวมใส่หน้ากากอนามัยมาปรับใช้กับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ จนไม่ต้องนำไปสู่การบังคับใช้มาตรการปิดประเทศ-เมืองของรัฐบาล

ท้ายสุด รายได้ของวงการค้าปลีกและร้านอาหารในไต้หวันกลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าตั้งแต่ ก.ค.ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่หลายประเทศกำลังเผชิญศึกหนักกับการปิดเมืองต้านโควิด

ออเดรย์ ถัง - ไต้หวัน - รอยเตอร์ส
  • 'ออเดรย์ ถัง' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน

หากลองเปรียบเทียบกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของประเทศ ยังชะลอตัวในระกับ 42.9 ซึ่งต่ำกว่า 50 ในทุกภาคธุรกิจ สะท้อนความเชื่อมั่นยังอยู่ในระดับต่ำ และเมื่อมองจากตัวเลขมหภาคโดยรวม จีดีพีของไต้หวันในไตรมาสที่ตกต่ำที่สุดอย่างไตรมาส 2/2563 (เม.ย.-มิ.ย.) ยังทรงตัวในแดนบวกคือ 0.58% ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันไทยเห็นเศรษฐกิจติดลบถึง 12.2%

หลังตามไต้หวันอยู่หลายเดือน ช่วง พ.ค.2563 รัฐบาลไทยเริ่มหันมาใช้มาตรการหลอมรวมเทคโนโลยีหวังแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่แพ้กัน 'ไทยชนะ' แพลตฟอร์มซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) หวังใช้ในการควบคุมความแออัดของประชาชนในการเข้าใช้บริการพื้นที่สาธารณะจึงถูกนำมาปรับใช้

ทว่าผลงานของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่มีพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นั่งเป็นรัฐมนตรี กลับไม่ได้มีอะไรโดดเด่นในเชิงดิจิทัลเพื่อช่วยบรรเทาสาธรณภัยโรคระบาดเทียบเท่าสตรีข้ามเพศของไต้หวัน 

ขณะที่ รมว.ดิจิทัลไต้หวัน พยายามผลักดัน 'การต้านข่าวปลอม' (fake news) โดยเน้นไปที่การบริหารศูนย์ดังกล่าวในฐานะ 'องค์กรอิสระ' ที่รัฐไม่อาจแทรกแซง เน้นให้ข้อมูลความจริงประชาชนในประเด็นเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นหลัก เพื่อให้ชาวไต้หวันไม่เกิดความตื่นตระหนกและรับมือกับสถานการณ์อย่างมีสติ จนเจแปนไทส์ลงบทความชื่นชมผลงานดังกล่าวของออเดรย์ 

พุทธิพงษ์ - กระทรวงดีอีเอส
  • พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ด้าน รมว.ดิจิทัลไทย เน้นบังคับใช้กฎหมายที่ขัดกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งล่าสุด ในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา รมว.ดิจิทัลไทย ชี้ว่า สามารถรวบรวมโพสต์ข้อความบนโลกออนไลน์ที่อาจผิด พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ถึง 5 แสนโพสต์

โดยเน้นดำเนินคดีกับผู้ที่ 'โพสต์คนแรก' มากกว่า 'ผู้แชร์ต่อ' คล้ายคลึงกับกรณีก่อนหน้าในประเด็นการสั่งปิด 'รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส' ที่มี ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เป็นแอดมิน (ผู้ดูแล) กลุ่มดังกล่าว ซึ่งไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศแต่อย่างใด

อีกทั้ง 'โครงการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัล' ที่กระทรวงฯ ในฐานะประธาน ร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และ บริษัท กสท โทรคมนาคม นั่งหารือ หวังช่วยนักศึกษาจบใหม่ผ่านการจัดอบรวมความรู้ทางดิจิทัลเป็นเวลา 3 เดือน พร้อมมอบเงินเดือนละ 10,000 บาท ไม่ผ่านผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (โครงการภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท) (รอบที่ 1) วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา 


อุตสาหกรรมเนื้อหอม

นอกจากฝั่งกระทรวงดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจประเทศไว้ อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) ซึ่งกินสัดส่วนถึงหนึ่งในสามของสินค้าส่งออกไต้หวัน ยังเข้ามาอยู่ถูกที่ถูกเวลาในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต

เมื่อโลกถูกบังคับให้ต้องทำงานจากที่บ้านเพื่อเว้นระยะห่างรักษาความปลอดภัย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทะลุขึ้นมามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างมาก ส่งให้อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มีความต้องการสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว สะท้อนผ่านยอดการส่งออกสินค้าของไต้หวันที่ปรับเพิ่มสูงถึง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่การค้าโลกกลับตกต่ำลง 

ตามข้อมูลจาก Investopedia Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. Ltd. เป็นบริษัทผลิตและออกแบบสารกึ่งตัวนำที่มีรายได้เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากอินเทลเท่านั้น โดยมีรายได้ตลอดทั้งปี 2562 สูงถึง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท

สารกึ่งตัวนำ - ไต้หวัน - รอยเตอร์ส - TSMC
  • Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. Ltd.

ทั้งยังมีรายได้ในไตรมาสที่ 3/2563 (ก.ค.-ก.ย.) สูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.6 แสนล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวสูงขึ้นถึง 29.22% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 

เทรนด์การเติบโตของอุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง งานศึกษาจาก Fortune Business Insights สะท้อนว่า สัดส่วนอุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำของโลกมีมูลค่าราว 5.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15 ล้านล้านบาท ในปี 2562 แต่จะทะยานขึ้นไปสูงถึง 7.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 21 ล้านล้านบาท ในปี 2570 

นอกจากทิศทางจะสดใสในอุตสาหกรรมสำคัญ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนตั้งแต่ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคตของ โจ ไบเดน ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งให้บริษัทไต้หวันจำนวนมากย้ายกลับมาตั้งถิ่นฐานในประเทศอีกครั้งเพื่อเลี่ยงภาระภาษีและความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันทางการค้า

อย่างไรก็ดี ไต้หวันยังมีข้อจำกัดที่ 'ไช่อิงเหวิน' ผู้นำหญิงให้นิยามภายใต้ชื่อ 'ความขาดแคลน 5 ประการ' ได้แก่ พื้นแผ่นดิน, น้ำ, พลังงาน, แรงงาน และความสามารถ ที่มีอย่างจำกัด โดยเฉพาะเมื่อรัฐกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และจำนวนประชากรอาจลดจาก 24 ล้านคนในปี 2563 ลงเหลือเพียง 16 ล้านคนในอีก 50 ปีข้างหน้า 

แม้นักวิเคราะห์หลายรายเห็นพ้องว่าการเติบโตอย่างโดดเด่นเพียงปีเดียวไม่ได้สะท้อนชัยชนะที่แท้จริงของประเทศ และรัฐบาลยังมีปัญหาให้ต้องแก้ไขอีกมากมาย ทว่าการยืนเด่นเป็นสง่าในปีที่ยากลำบาก สร้างความมั่นใจให้ชาวไต้หวันไม่น้อยเพื่อจะก้าวเดินต่อไป 

อ้างอิง; The Economist

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;