วันที่ 1 เม.ย. ที่กระทรวงการต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวผลการเยือนต่างประเทศในรอบ 6 เดือน รวมถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาแถลงกว่า 40 นาที
โดย ปานปรีย์ เริ่มต้นเล่ากับสื่อมวลชนฟังว่า สาเหตุที่มาแถลงข่าวในวันนี้ เนื่องจากอยากจะมาเล่าสู่กันฟังว่าในส่วนงานของกระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีรวมถึงรัฐมนตรีช่วยได้ดำเนินการในเรื่องใดไปบ้าง ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายเชิงรุกด้านการต่างประเทศ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความไม่แน่นอนภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภูมิเทคโนโลยี ภาวะโลกร้อน และโอกาสที่เกิดการแพร่ของโรคระบาด นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาเศรษฐกิจโลกอยู่มาก เราจะสังเกตได้ว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ GDP ขยายตัวต่ำลง ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่เราคำนึงถึง
"ประเทศไทยห่างเหินไปจากจอเรดาห์โลก เสมือนว่าเรามีปฏิสัมพันธ์กับต่างชาติน้อยลง เป็นผลทำให้บทบาทในด้านต่างประเทศของประเทศไทยลดน้อยลง โดยเฉพาะในอาเซียนที่เคยโดดเด่นมาก่อนน้อยลงไปมาก" ปานปรีย์ กล่าว
ปานปรีย์ ได้สรุปผลงานออกเป็น 4 เรื่อง เรื่องแรกได้แก่ "การทูตเชิงรุก ทำให้ประเทศไทยมีสถานะและได้รับการยอมรับดีขึ้น" ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าตน นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย รวมถึงรัฐมนตรีอีกหลายท่าน เดินทางเยือนต่างประเทศจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการเปิดบ้านรับหลายประเทศ โดยเฉพาะล่าสุด มีการการยกระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกใน EU ที่ตกลงความร่วมมือกับไทย และถือว่าประเทศอังกฤษให้ความสำคัญกับประเทศไทยมาก และที่ผ่านมามีการประชุมในวงต่างๆ เช่น UNGA , อาเซียน-ออสเตรเลีย , อาเซียน-แปซิฟิก , อาเซียน-ญี่ปุ่น , เอเปค ฯลฯ
"ไม่ใช่เราเยือนอย่างเดียว มีต่างประเทศทยอยเข้ามาในประเทศไทยเรื่อยๆ เราจัดคิวกันไม่ทัน ... การเยือนต่างประเทศ ไม่ใช่แค่การเดินทางไปพบกันจับไม้จับมือแล้วกลับบ้าน มันต้องมีเนื้อหา อย่างน้อยที่สุดไปดูเรื่องความร่วมมือที่เคยมี มีมาแล้ว และจะมีกันต่อไป" ปานปรีย์ กล่าว
ปานปรีย์ ยังกล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีแรกที่ไทยได้รับเชิญที่เกาหลีใต้ ในการเข้าร่วมประชุม Summit for Democracy แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีการพบปะกับภาคเอกชนระดับโลก บริษัทข้ามชาติ โดยเน้นการดึงดูดด้านการลงทุน เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว
ปานปรีย์ ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศได้จัดประชุมทูตและกงสุลทั่วโลก ถือเป็นการประชุมครั้งแรกระหว่างเอกอัครราชทูตไทยร่วมกับทูตพาณิชย์และฝ่าย BOI แสดงให้เห็นชัดว่าเป็นการทำงานเชิงรุกและบูรณาการ
ปานปรีย์ ยังกล่าวถึงการส่งเสริมให้ไทยเป็นฮับทั้ง 8 ข้อ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงวิสัยทัศน์ กระทรวงการต่างประเทศต้องมีส่วนสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง ตนได้พบรัฐมนตรีวิเทศสัมพันธ์จีนก็มีการถามถึงและให้ความสนใจ
ประการที่สอง "การทูตที่ทันท่วงทีในยามวิกฤต" นายปานปรีย์ ระบุว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะการเจรจากับต่างประเทศ เช่น เรื่องอิสราเอล เราต้องตั้งหลักในการนำตัวคนไทยกลับประเทศในระยะเวลาอันสั้น
"เราก็ตกใจมากแล้ว ไม่รู้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร เมื่อเราตั้งหลักได้ เราก็รู้แล้วว่าเราจะต้องเอาคนไทยที่กำลังประสบปัญหาและมีความหวาดกลัวกลับประเทศ ตอนนั้นก็มีมากถึง 7,000 กว่าคน ในระยะเวลาอันสั้นเราก็ต้องรีบตัดสินใจ“ ปานปรีย์ กล่าว
ปานปรีย์ กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนั้นปั่นป่วน แต่ก็ทำได้เรียบร้อยดี ผู้ที่ถูกจับไป ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนก็หาช่องทางไปพูดคุยกับคนที่สามารถคุยกับกลุ่มฮามาสได้ เพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมด
"บางครั้งก็ไม่ได้หลับได้นอน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในอิสราเอลด้วย ในที่สุด ผมก็ต้องตัดสินใจเดินทางไปประเทศที่สามารถช่วยเราได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกาตาร์ อียิปต์ อิหร่าน และอีก 2-3 ประเทศที่ประสานทางโทรศัพท์ เขาก็ได้ช่วยเหลือเต็มที่จนตัวประกันก็สามารถออกมาได้ 23 คน ขณะนี้ อีก 8 คนก็ยังอยู่ในกาซา ซึ่งได้รับทราบว่า 3 คนยังมีชีวิต ส่วนอีก 5 คนยังไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใด เพราะกระจัดกระจายอยู่ไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน แต่เราก็ยังมีความหวังว่าทั้ง 8 คน ยังมีความปลอดภัย นอกจากนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน เราก็มีความพยายามพูดคุย เพื่อให้ผลักดันด้วย แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง" ปานปรีย์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีเรื่องสถานการณ์ค้ามนุษย์ในเมียนมา เราก็รับทราบว่าคนไทยที่ไปทำงานที่นั่นอยากกลับประเทศ โดยได้ติดต่อผ่านทางสถานทูต แต่ตอนนี้การเดินทางภายในเมียนมายังมีความยากลำบาก ยังมีการสู้รบ ทำให้ต้องมีการประสานงานกันหลายฝ่ายในเรื่องการเดินทางผ่านชายแดนประเทศที่สาม ตอนนี้ก็ทยอยออกมา
ประการที่สาม "การวางจุดอยู่ในสถานการณ์ของโลก และการมีบทบาทที่แข็งขันในภูมิภาค" นายปานปรีย์ กล่าวว่า เรามีท่าทีที่สมดุลและเป็นมิตรไม่เลือกข้างอยู่บนหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศและผลประโยชน์ของพี่น้องคนไทย การที่ นายเจ็ค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงสหรัฐ และนายหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน มาพูดคุยกันที่ไทย ถือเป็นเรื่องที่สะท้อนได้เป็นอย่างดี
ปานปรีย์ ได้เน้นย้ำถึงประเทศเมียนมาที่เป็นเพื่อนบ้านเรา พวกเราได้แสดงบทบาทที่ชัดเจนเพื่อให้ประเทศเมียนมากลับมาเปิดประเทศที่มีเอกภาพ เสถียรภาพและสันติภาพ เราได้มีแนวคิดริเริ่มโครงการมนุษยชน เป็นจุดเริ่มต้นผลักดันการนำฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนไปปรับใช้ด้วย
ประการสุดท้าย "การทูตที่ประชาชนสัมผัสได้" นายปานปรีย์ ระบุว่า เราได้ลงพื้นที่ชายแดนหลายรอบ เพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องส่งเสริมแรงงานไทยไปต่างประเทศและดูแลหน่วยงานไทยในต่างประเทศ ปีนี้ตั้งเป้าส่งออกแรงงาน ให้ได้ 100,000 คน นอกจากนี้ ตนทราบว่าแรงงานไทยบางส่วนที่กลับมาจากอิสราเอล หลายคนย้อนไปทำงานอีกแล้ว
ในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ กระทรวงการต่างประเทศได้รับนโยบายจากรัฐบาลมาดำเนินการ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งในการประชุมทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลก ตนได้ให้โจทย์ไปจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ
ปานปรีย์ ยังเล่าถึง การดำเนินการใน 6 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่การจะนำผลการเยือนมาสู่การปฏิบัติ การดำเนินการตามความตกลงที่จะทำเสร็จสิ้นแล้ว การเร่งรัดติดตามการดำเนินการตามผลการหารือต่างๆ ตั้งเป้าเยือนประเทศอาเซียนให้ครบภายใน 6 เดือนหลังจากนี้
"เวียดนาม อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และแอฟริกาใต้ รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่ผมเองยังไปเยือนไม่ครบ จะต้องไปให้ครบใน 6 เดือน" ปานปรีย์ กล่าว
ปานปรีย์ ยังตั้งเป้า จะต้องเดินหน้ารณรงค์การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เร่งรัดและการขยายเจรจา FTA กลับประเทศอื่น เปิดตลาดใหม่ในแอฟริกาใต้ เอเชียใต้ และเอเชียกลาง ผลักดันการยกเว้นวีซ่าคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ ปฏิรูปวีซ่าทั้งระบบ
ปานปรีย์ ยังกล่าวถึง วีซ่าเชงเก้น ตอนนี้มีความคืบหน้า แต่ยังต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเนื่องจากไม่ได้มีแค่ประเทศเดียว ส่วน eVisa กำลังเร่งรัดให้กับผู้ที่อยากเข้าประเทศไทยเช่นกัน
ปานปรีย์ ย้ำทิ้งท้ายว่า การทูตที่จับต้องได้เกิดการดำเนินการทูตอย่างมีทิศทางและยุทธศาสตร์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้และเพิ่มศักดิ์ศรีให้กับคนไทย
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้กับสื่อมวลชนถามคำถาม โดยผู้สื่อข่าวเมื่อถามถึงความเชื่อมโยงของการแถลงในวันนี้ จะนำไปสู่ความพร้อมอภิปรายซักฟอกทั่วไปรัฐบาล ตามมาตาา 152 อย่างไร
ปานปรีย์ กล่าวว่า สำหรับการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายปานปรีย์ มองว่า การอภิปรายไม่ใช่ว่ารัฐบาลทำผิดถูกอย่างไร แต่เป็นข้อเสนอแนะจากฝ่ายสภาฯ ซึ่งไม่สามารถทราบได้ว่าจะถามเรื่องอะไร แต่การต่างประเทศนั้นพร้อม
ปานปรีย์ ย้ำว่า การแถลงไม่ใช่การเตรียมความพร้อมสำหรับการอภิปราย แต่เพื่อให้ประชาชนทราบว่าการต่างประเทศทำอะไรบ้าง โฟกัสเรื่องอะไร และจะทำอะไรต่อไป เพราะเกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง