อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงกำหนดการการภารกิจนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24-25 ส.ค. 2563 ซึ่งเป็นห้วงของการประชุม ครม. นอกสถานที่ จ.ระยอง โดยในช่วงเช้าของวันที่ 24 ส.ค. 2563 นายกรัฐมนตรีจะร่วมประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง(MLC)-ธนาคารแห่งประเทศไทยกับผู้นำ 5 ประเทศประกอบด้วยจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล หรือ Video Conference ซึ่งจะเป็นการสานต่อความร่วมมือจากภูมิภาคอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ รอบด้าน โดยนายกรัฐมนตรี จะให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งที่อาจจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำแต่ละประเทศเพื่อทำให้ทุกประเทศได้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเน้นในเรื่องของสาธารสุขโดยเฉพาะความร่วมมือของไทยและจีนที่จะไม่ใช่แค่การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แต่จะร่วมพัฒนาวัคซีนในโรคอื่น ๆ ด้วย พร้อมผลักดันวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 ให้เป็นในลักษณะการดูแลสุขอานามัยและและให้ทุกคนเข้าถึงได้ด้วย ไม่มองเป็นเรื่องธุรกิจ
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี จะเดินไปลงพื้นที่ จ.ระยอง ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม/โลจิสติกส์ ในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะโครงการเส้นทางมอเตอร์เวย์ เส้นทาง พัทยา-มาบตาพุต ก่อนจะตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่มีศูนย์ปฎิบัติการในภาวะฉุกเฉิน การเยี่ยมชมจุดคัดกรอง เพื่อความพร้อมรองรับการเปิดท่องเที่ยวจากต่างประเทศในวงจำกัด (Travel Bubble) ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชมตลาด 100 เสา และปล่อยพันธุ์ปูลงสู่ทะเล
ขณะที่ในวันที่ 25 ส.ค. 2563 จะเยี่ยมชมสินค้าพรีเมียมนวัตกรรมเพื่ออีอีซี และเป็นสักขีพยานมอบหนังสืออนุญาตให้ประชาชนเข้าทำกินในที่ดินที่รัฐบาลจัดสรรให้ และประชุมร่วมกับ เอกชน 3 จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ก่อนจะเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ
หลังเสร็จสิ้นนายกรัฐมนตรี ยังมีภารกิจต่อที่จังหวัดจันทบุรี ในการเยี่ยมชมโครงการนำร่องใช้ยางพาราเพิ่มความปลอดภัยทางถนน เช่น ผลิตแบร์ริเออร์ยาว 60 กิโลเมตร
อนุชา ยังระบุว่า ยังไม่มีกำหนดที่จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาในระหว่างลงพื้นที่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีหลายภารกิจในเวลาที่จำกัด ขณะที่เรื่องของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นระดับภูมิภาคขอไปตรวจสอบรายละเอียดความคืบหน้าก่อนจะแจ้งให้สื่อมวลชนรับทราบ เช่นเดียวกับความชัดเจนเกี่ยวกับการตั้งคณะรัฐมนตรีหลังการปรับครม. ที่จะต้องมีการหารือกับรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจก่อนที่จะมาให้ความชัดเจนอีกครั้ง