วันที่ 20 มี.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วันแรกของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2-3 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในการพิจารณามาตรา 6 ว่าด้วยงบกลาง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะคณะกรรมาธิการฯ ผู้สงวนความเห็น อภิปรายขอปรับลดงบกลาง 1.4 พันล้านบาท โดยระบุว่า ในกรรมาธิการที่มีการหารือกันอยู่นั้น มีรองประธานกรรมาธิการบอกว่าของบให้รัฐสภาไทย ตนคิดว่าไม่ถูกต้อง เพราะจะมีส่วนได้เสีย
“ในการพิจารณาปรับเพิ่ม 1 พันล้านบาท วันนั้นมีการพูดคุยกันกลางห้องประชุม จับกลุ่มพูดคุยว่าจะเอาตรงไหนไปไหนมีการบอกว่าจะเอาไปประกันสังคม 500 ล้านบาท ตัว 1 พันล้านบาท บอกว่าท่านนายกฯ ขอมา ผมฟังแล้วผมก็ตกใจ ถ้าบอกขอมา อย่างนี้วันนี้ผมต้องขอเสนอตัดออก เพราะให้ผ่านไปไม่ได้ ถ้าให้ผ่านไปในมาตรา 144 ก็ต้องถูกร้องแน่ การที่มาพูดแล้วในห้องกรรมาธิการ แม้ว่าจะไม่ได้ออกเสียง แต่ก็มีคณะกรรมาธิการที่เป็นคณะรัฐมนตรีนั่งอยู่ด้วย…ศาลรัฐธรรมนูญบัญญัติคำวินิจฉัยไว้ว่าถ้ามีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นก็ต้องไม่อยู่ในห้อง เฉกเช่นเดียวกันกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ท่านก็ทำเป็นตัวอย่าง ผมยังติดใจเรื่องนี้และเสนอให้ท่านตัด 1 พันล้านบาทออกไป เพราะอย่างไรงบกลางก็ยังมี 9 หมื่นกว่าล้าน อย่าไปเสี่ยงกับเงินเล็กน้อย และมีปัญหาทางข้อกฎหมาย เพราะอย่างไรเสียผมเป็นกรรมาธิการ แม้เสียงข้างน้อย ผมก็ใช้สิทธิ์ที่จะต้องยื่น ป.ป.ช.แน่นอน ถ้าตัวเลขนี้ไม่ตัดออก” เรืองไกร กล่าว
ขณะที่ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า งบกลางในหมวดสำรองจ่ายในปี 2567 ที่เรากำลังพิจารณากันมีการเบิกจ่ายต่ำ เนื่องจากในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในส่วนของงบกลางที่เป็นเงินสำรองจ่ายนั้น สำนักงบประมาณได้พิจารณาถึงความพร้อม ความสามารถตามระเบียบความจำเป็น แผนงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามที่สำนักงบประมาณควรจะต้องพิจารณา ส่วนใหญ่งบกลางจะจัดสรรในช่วงกลางปีงบประมาณ แต่ในเรื่องของการเบิกจ่ายมีความล่าช้าส่วนใหญ่ก็สืบเนื่องมาจากเรื่องของภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดในช่วงฤดูฝนหรือช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณ ซึ่งจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้มีความคาดหมายไว้ล่วงหน้า การของบประมาณจึงเกิดขึ้นในช่วงนี้
มนพร กล่าวต่อไปว่า ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการของข้าราชการนั้น เป็นการตั้งงบประมาณในรอบ 1 ปีงบประมาณเท่านั้น ซึ่งการเบิกจ่ายเป็นเรื่องที่เราไม่ได้คาดการณ์มาก่อน และคิดว่าประชาชนคนไทยคงไม่อยากเจ็บป่วย ทำให้การตั้งงบประมาณเป็นไปตามสมมุติฐานที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นอย่างเพียงพอ สามารถรองรับค่าใช้จ่ายที่บุคลากรภาครัฐจะมีการเบิกจ่ายรวมถึงระดับมหภาคด้วย
อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายจะเป็นไปตามสิทธิ การขอใช้สิทธิตามความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการใช้งบกลางที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์จะเห็นว่าเป็นการสำรองจ่ายใช้ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งการตั้งงบประมาณไว้เราคาดการณ์ไว้ว่างบประมาณที่ตั้งไว้เป็นงบประมาณที่มีความจำเป็นต้องจัดสรรในเรื่องต่างๆ
“ทั้งนี้ งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราจะบริหารงบประมาณอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ จึงขอยืนยันว่าดิฉันเห็นกับกรรมาธิการในมาตรานี้” มนพร กล่าว
ภายหลังการอภิปรายของสมาชิก ที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบ 279 เสียง ยึดตามการแก้ไขของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก โดยมีเสียงไม่เห็นด้วย 160 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง