เมื่อเราพูดถึงพื้นที่สีเขียว เรามักนึกถึงสวนสาธารณะ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ โดยพื้นที่สีเขียวมีประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้สัมผัส
ปี 2564 กทม.มีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากร (ที่นับตามทะเบียนราษฎร์) อยู่ที่ 7.31 ตารางเมตร/คน หากนับรวมประชากรแฝงที่รวมแล้วมีราว 10 ล้านคน ทำให้ค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวลดลงเหลือ 3 ตร.ม/คน ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 9 ตร.ม./คน ซึ่งนี่คือหนึ่งในเป้าหมายของกรุงเทพฯ ที่จะไปให้ถึงจุดนั้น
จากข้อมูลเกี่ยวกับสวนสาธารณะของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ทำให้ทราบว่า ต้นไม้ยืนต้นริมถนน/บนเกาะกลางถนน หรือสวนหย่อมในหมู่บ้านเอกชนก็ถูกนับพื้นที่สีเขียวด้วย โดย กทม.มีการจัดแบ่งสวนออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ 1.สวนหย่อม 2.สวนหมู่บ้าน 3.สวนชุมชน 4.สวนระดับย่าน 5.สวนระดับเมือง 7.สวนถนน และ 7.สวนเฉพาะทาง ซึ่งรวมแล้วมีสัดส่วนเพียง 2.60 % ของพื้นที่ กทม.ทั้งหมด
ที่ผ่านมามีความพยายามในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะ โดยกำหนดเป็นนโยบาย มหานครกรุงเทพสีเขียว หรือ Green Bangkok 2030 โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2573 กทม. จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ถึง 10 ตารางเมตรต่อคน ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก และนอกจากเพิ่มจำนวน ยังมีเป้าหมายเพิ่มโอกาสการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ประชาชนสามารถเดินถึงได้ในระยะ 400 เมตรหรือภายใน 5-10 นาทีด้วย
หันมาดูวิสัยทัศน์ว่าของว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เสนอแนวคิดว่า พื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างเมืองน่าอยู่ จึงสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวโดยเริ่มจากสวนขนาดใหญ่ที่มีอยู่แล้ว และสร้างการเชื่อมต่อไปยังสวนขนาดกลางและสวนชุมชน
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แม้ไม่ได้อยู่ในนโยบายหลักที่เคยประกาศ แต่ได้เสนอแนวคิดว่า ควรเปลี่ยนพื้นที่รกร้างและที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นสวนสาธารณะฉบับกระเป๋าหรือ pocket park และร่วมมือกับภาคเอกชน และประชาชน หากมีที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และมีความประสงค์จะมอบให้กทม. นำไปพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว จะสามารถนำไปลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้
ขณะที่สกลธี ภัททิยกุล เสนอว่า จะปรับปรุงให้การใช้สวนสาธารณะสวนทุกสวนได้ดีขึ้น ให้มีการเล่นกีฬาได้หลากหลายชนิด พร้อมทั้งทำให้ทุกเขตมีสวนสาธารณะตามขนาดพื้นที่หรือ 50 เขต 50 สวน
เรื่องและภาพ: เสกสรร โรจนเมธากุล