ไม่พบผลการค้นหา
UN รายงานสถานการณ์ยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้กำลังเฟื่องฟู เพราะกลุ่มอาชญากรปรับตัวไว หาเส้นทางลักลอบใหม่ เลี่ยงรัฐตรวจยึด ขณะที่ราคาขายยังถูกเป็นประวัติการณื

เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ (UN) ออกรายงานเตือนถึงตลาดยาเสพติดในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเฟื่องฟู หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย โดยพบว่า เครือข่ายยาเสพติดได้ใช้เส้นทางลักลอบใหม่ในการกระจายเมทแอมเฟตามีนรวมถึงยาเสพติดอื่นๆ ไปทั่วภูมิภาค รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตเคตามีนกำลังขยายตัวมากขึ้น

สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) รายงานว่า เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา ในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ มีการยึดเมทแอมเฟตามีนได้เกือบ 151 ตัน รวมถึงการยึดเคตามีนได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 27.4 ตัน ถือว่าเพิ่มขึ้น 167% เมื่อเทียบกับตัวเลขของปี 2564

UNODC ระบุว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ในสองภูมิภาคดังกล่าว มีการจับกุมและยึดเมทแอมเฟตามีนได้เกือบทุกปี แม้ยอดจะลดลงไปในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ก็กลับมาอยู่ระดับเดิมเท่าช่วงก่อนมีโควิด-19 อีกครั้งในปีที่แล้ว คาดว่าเป็นเพราะกลุ่มค้ายาเสพติดหาช่องทางอื่นในการลักลอบเพื่อหลบเลี่ยงการจับกุม มากกว่าเพราะผลิตยาน้อยลง

อาทิ กลุ่มค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ บริเวณภาคเหนือของไทย ทำการขนย้ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากผ่านภาคกลางของเมียนมาไปยังทะเลอันดามัน ส่วนอีกเส้นทางหลักที่นิยมมากในการลักลอบขนยา คือ ผ่านภาคเหนือของไทยและลาว

โดย เจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เปิดเผยว่า กลุ่มอาชญากรข้ามชาติมีการคาดการณ์ ปรับตัว และพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจจับของรัฐบาล โดยในปี 2564 จะเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มค้ายาเสพติดบริเวณชายแดนไทยในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำมากกว่าในอดีต

ในรายงานดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า เสรีภาพในการผลิตและกระจายยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งถูกควบคุมโดยกลุ่มอาชญากรและกลุ่มติดอาวุธที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ผู้ผลิตยาเสพติดสามารถ "เพิ่มปริมาณและกระจายสินค้าจำนวนมากเพื่อวัตถุประสงค์ในการขยายและครองตลาดได้"

อย่างไรก็ดี แม้ว่าพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และรัฐฉานของเมียนมายังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตยาเสพติด แต่กลุ่มอาชญากรก็พยายามกระจายความเสี่ยงด้วยการตั้งศูนย์การผลิตยาเสพติดแห่งใหม่เพิ่มในที่อื่นๆ ด้วย เช่น กัมพูชา

“กัมพูชากลายเป็นทางผ่านที่สำคัญ และเป็นจุดผลิตยาเสพติดระดับภูมิภาคในระดับหนึ่งด้วย ทั้งนี้ มีการค้นพบห้องทดลองลับสำหรับผลิตเคตามีน โกดังแปรรูป และคลังเก็บสินค้าหลายแห่งทั่วประเทศกัมพูชา ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยต่อภูมิภาคและนานาชาติ” ดักลาส กล่าว

นอกจากนี้ เอเชียใต้ยังมีความเกี่ยวพันกับตลาดยาเสพติดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น “มีเมทแอมเฟตามีนที่ลักลอบนำเข้าในปริมาณมากจากเมียนมาสู่บังกลาเทศมากขึ้น รวมถึงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียด้วย”

ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2565 ราคาขายส่งและราคาขายตามท้องถนนของเมทแอมเฟตามีนทั่วทั้งภูมิภาคถือว่าอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในตลาดที่ไม่เคยสะดุดหยุดลง.

ที่มา : Aljazeera, Reuters