ครม. ไฟเขียวขยายเวลาการบังคับใช้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียนออกไปถึง 31 ธันวาคม 2568
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างตราสารว่าด้วยการขยายระยะเวลาบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเชียน (Instrument of Extension of the Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: IOE of APG MOU) (ร่างตราสารฯ) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในตราสารฯ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในตราสารฯ ข้างต้น
ร่างตราสารฯ ดังกล่าว เป็นการขยายระยะเวลาการมีผลบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอาเซียน (Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid: APG MOU) (บันทึกความเข้าใจ APG) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 มีนาคม 2567 ออกไปเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เพื่อสนับสนุนความพยายามของหัวหน้าคณะผู้บริหารกิจการไฟฟ้าอาเซียนและคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียนในการพัฒนาระบบไฟฟ้าของภูมิภาค ให้สามารถยกระดับการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานด้านการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า และการส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้มีการแบ่งปันทรัพยากรของภูมิภาคด้วยการส่งพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมลงนามในร่างตราสารฯ ให้เสร็จสิ้นครบทุกประเทศก่อนที่ผลบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจ APG จะสิ้นสุดลง
ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่ร่วมลงนามแล้วทั้งสิ้น 8 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (ฟิลิปปินส์) สาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (เวียดนาม) โดยประเทศมาเลเซียได้ส่งมอบ Full Powers เรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการรอลงนาม
ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ APG จำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ โดยมีกำลังส่งไฟฟ้ารวมประมาณ 7,700 เมกะวัตต์ และยังมีการดำเนินโครงการลักษณะเดียวกันซึ่งเป็นข้อตกลงเชิงธุรกิจระหว่างการไฟฟ้าของประเทศสมาชิกเพื่อสนับสนุนภารกิจของ APG ด้านการพัฒนาการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียนโดยไม่ได้มีผลบังคับภายใต้บันทึกความเข้าใจ APG และประเทศสมาชิกสามารถพิจารณาการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมโครงการในระยะถัดไปได้ตามความเหมาะสม เช่น (1) โครงการบูรณาการสายส่งไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย และมาเลเซีย ซึ่งหยุดดำเนินการไปเมื่อเดือนธันวาคม 2564 (ดำเนินการเสร็จสิ้นตามแผนแล้ว) (2) โครงการบูรณาการสายส่งไฟฟ้าระหว่างลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ดำเนินการระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน 2565 - 22 มิถุนายน 2567
ครม.เร่งแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่อง ขอให้สั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
เดิมเรื่องนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ว่า เอกชนที่มีเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินได้เข้าปิดกั้นล้อมรั้วพื้นที่สาธารณะและก่อสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ท ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนชาวเลได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่แต่เดิมได้ ซึ่ง กสม. ได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วพบ่า
แม้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันดำเนินการในรูปแบบคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงเพื่อตรวจสอบที่ดินภายในเกาะหลีเป๊ะ ทั้งหมดแล้ว แต่การแก้ไขยังไม่แล้วเสร็จอย่างยั่งยืน ตลอดจนยังคงมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินในชุมชนทับซ้อนกับที่ดินของเอกชนและ/หรือที่ดินของรัฐในพื้นที่ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาสั่งการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาข้อพิพาทการใช้พื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ต่อคณะรัฐมนตรี
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รวบรวมผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้สรุปผลในภาพรวม ดังนี้
1. สำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล) เป็นประธานกรรมการเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ให้ได้รับการแก้ไขปัญหาด้วยความเป็นธรรมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ และได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
2. กรณีปัญหาการปิดกั้นทางสาธารณะ คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ จำนวน 3 คณะ คือ (1) คณะอนุกรรมการตรวจสอบสิทธิในที่ดิน กระบวนการครอบครองหรือออกเอกสารสิทธิในที่ดิน (2) คณะอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายกรณีข้อพิพาทในที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล และ (3) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล
3. กรณีการจัดการด้านผังเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่ คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีการจัดการด้านผังเมืองเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยได้มีการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการวางผังเมืองและกำหนดเขตวัฒนธรรมวิถีชีวิตชาวเล แต่อย่างไรก็ตามต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน และพื้นที่สาธารณประโยชน์ให้แล้วเสร็จก่อน
4. การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บริเวณเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เกี่ยวกับปัญหาของชาวเลต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายประมงและกฎหมายอุทยานแห่งชาติ คณะอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายกรณีพิพาทในที่ดินเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรับเรื่องร้องทุกข์จากชาวเลและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ สธ. เสนอ
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดว่า วันนี้ (3 มีนาคม 2567) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เดิมบังคับใช้มาเป็นเวลานาน บทบัญญัติบางประการจึงไม่เหมาะสมกับปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทบทวน พ.ร.บ. ดังกล่าวและได้ยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ เช่น แก้ไขคำนิยาม “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และ “การสื่อสารการตลาด”
และเพิ่มเติมคำนิยาม “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เพิ่มเรื่องการห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสถานที่ หรือบริเวณสถานที่จัดบริการ เพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้าในเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และเพิ่มเติมโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเนื้อหา ขอให้ คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนตรวจอย่างละเอียดคำนึงถึงในทุกมิติ(ทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ)อย่างสมดุล โดยขอให้รับความเห็นของหน่วยงานต่างๆ เพื่อไปประกอบความเห็นพิจารณาด้วย ก่อนนำเสนอวิปรัฐบาล เพื่อเสนอสภาพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ประชุม ครม. มีมติรับทราบข้อสังเกต ข้อเสนอของร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....) จำนวน 3 ฉบับ นำไปประกอบกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สธ. เสนอ
โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....) จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
1. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ)
2. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92}978 คน เป็นผู้เสนอ) และ
3. ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะเป็นผู้เสนอ)
(ครบกำหนดส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2567)
ซึ่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติฯ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ มีหลักการเพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกลไกการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความสมดุล แต่เนื่องจากรายละเอียดของการแก้ไขปรับปรุงยังคงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับระดับความเข้มงวดของการควบคุมและการผ่อนปรนมาตรการที่อาจยังไม่นำไปสู่ความสมดุลที่เหมาะสม รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกลไกการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละร่างฯ ยังคงมีความแตกต่างกันมาก
ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รับประเด็นข้อเสนอแก้ไขตามร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ พร้อมกับการพิจารณคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ความเห็นของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งรวมถึงประเด็นการปรับปรุงกลไกคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฯ มีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาวะของประชาชน โดยไม่สร้างอุปสรรคหรือภาระแก่ผู้ประกอบการจนเกินสมควร และทำให้ร่างกฎหมายได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อผลักดันร่างพระราบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ครม.อนุมัติแต่งตั้งประธาน-กรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย 11 คน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวม 11 คน เพื่อแทนประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์และขอลาออก ดังนี้
1.นายชยธรรม์ พรหมศร ประธานกรรมการ
2.นายคุณดร งามธุระ กรรมการ
3.นายจำเริญ โพธิยอด กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงคมนาคม)
4.นายชารีย์ บำรุงวงศ์ กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงคมนาคม)
5.นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ กรรมการ
6.นายดรุฒ คำวิชิตธนาภา กรรมการ
7.นายไพบูลย์ ศิริภาณุเสถียร กรรมการ
8.นายรุธิร์ พนมยงค์ กรรมการ
9.พลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ กรรมการ
10.นางสาวสุทิษา ประทุมกุล กรรมการ
11.นายอนันต์ แก้วกำเนิดกรรมการ
ครม.ไฟเขียว 'เทพรัตน์ เทพพิทักษ์' นั่งผู้ว่า กฟผ. คนใหม่
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอแต่งตั้ง เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เนื่องจากผู้ว่าฯ เดิมครบวาระตามสัญญาจ้าง
ครม.อนุมัติแต่งตั้ง-สับเปลี่ยน 8 ตำแหน่ง ข้าราชการระดับสูง ก.ต่างประเทศ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ กระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 8 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 67 ซึ่งอยู่ระหว่างการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตำแหน่งที่ว่าง และสับเปลี่ยนหมุนเวียน ดังนี้
1.นายรุจ ธรรมมงคล ตำแหน่งเดิม อธิบดีกรมการกงสุล ตำแหน่งใหม่ที่แต่งตั้งในครั้งนี้ เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก สหรัฐเม็กซิโก
2.นายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ ตำแหน่งเดิม อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ตำแหน่งใหม่ที่แต่งตั้งในครั้งนี้ อธิบดีกรมการกงสุล
3.นางสาวศศิริทธิ์ ตันกุลรัตน์ ตำแหน่งเดิม อธิบดีกรมพิธีการทูต ตำแหน่งใหม่ที่แต่งตั้งในครั้งนี้ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา
4.นายจักรกฤดิ กระจายวงศ์ ตำแหน่งเดิม เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ตำแหน่งใหม่ที่แต่งตั้งในครั้งนี้ อธิบดีกรมพิธีการทูต
5.นายพลพงศ์ วังแพน ตำแหน่งเดิม รองอธิบดีกรมอาเซียน ตำแหน่งใหม่ที่แต่งตั้งในครั้งนี้ อธิบดีกรมอาเซียน
6.นายวัฒนวิทย์ คชเสนี ตำแหน่งเดิม รองธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ตำแหน่งใหม่ที่แต่งตั้งในครั้งนี้ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
7.นางสาวกษมา สืบวิเศษ ตำแหน่งเดิม อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ตำแหน่งใหม่ที่แต่งตั้งในครั้งนี้ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง
8.นายภูบดี ลออเงิน ตำแหน่งเดิม ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตำแหน่งใหม่ที่แต่งตั้งในครั้งนี้ เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงสำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป