ไม่พบผลการค้นหา
'พิจารณ์' เตรียมคุยพรรคจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ แย้ม 'ส.ส.ก้าวไกล' พยายามโน้มน้าว ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ หวัง 'ปชป.-ภท.' ร่วมโหวตนายกฯ 'พิธา' ส.ว. แต่หากไม่เคารพเสียงประชาชน คงไม่มีอะไรต้องคุยกัน

วันที่ 16 พ.ค. ที่พรรคก้าวไกล พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมายังที่ทำการพรรค ก่อนเปิดเผยถึงผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนอย่างล้นหลามในพื้นที่ กทม. โดยระบุว่า ต้องขอบคุณคะแนนเสียงจากประชาชน เมื่อเทียบกับปี 2562 เก้าอี้ ส.ส.เพิ่มขึ้นมาประมาณเท่าตัว และในหลายเขตชนะขาด 

อย่างไรก็ตาม พิจารณ์ เผยว่า คณะทำงานของ กทม. พรรคก้าวไกล กำลังหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าจะเสนอขอให้รวมคะแนนใหม่ เนื่องจากพบว่าคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ 20 ซึ่ง กกต. ได้ประกาศ ไม่ตรงกับผลคะแนนที่พรรคได้รวบรวม ซึ่งวันนี้จะทบทวนเป็นครั้งสุดท้าย ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และดำเนินเสนอ กกต.ให้รวมคะแนนใหม่

สำหรับปัจจัยที่ทำให้กระแสก้าวไกลกวาดที่นั่งได้ทั่วกรุงเทพฯ พิจารณ์ ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกลตั้งเป้าไว้ที่ 15 เขต ก่อน กกต. แบ่งเขตใหม่ จึงเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบอยู่บ้าง แต่ก็ยังเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตามเมื่อประชาชนให้ความสนใจ ครั้งนี้จะพิสูจน์และทำให้เห็นว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะนายกที่อายุน้อยที่สุดในรอบ 70 ปีจะบริหารประเทศ และสร้างผลงานมาแทนคำขอบคุณ

พิจารณ์ ยังเผยถึงแนวทางของพรรคว่า หากมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อคนใด ได้รับตำแหน่งในฝ่ายบริหาร ส.ส.คนดังกล่าวควรจะลาออกเพื่อขยับลำดับบัญชีรายชื่อขึ้นมา แต่สำหรับบุคลากรที่เป็นแกนนำสำคัญ เช่น หัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย เลขาธิการพรรค อาจจะจำเป็นต้องดำรงตำแหน่ง ส.ส.ต่อไป 

สำหรับการหารือจัดตั้งรัฐบาลนั้น พิจารณ์ เผยว่า วันนี้จะเริ่มมีการพูดคุยกันกับแต่ละพรรคถึงแนวทางในรายละเอียด หลังจากการแถลงข่าวของ พิธา เมื่อวานนี้ ภายในพรรคก็มีการประชุม จัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำไปหารือกับพรรคต่างๆ แต่ยังไม่ได้พูดคุยเป็นการภายในในเรื่องของทิศทางการโหวตนายกของ ส.ว. ซึ่งบุคลากรในพรรคก้าวไกลหลายคนก็มีความรู้จักมักคุ้นกับ ส.ว. บางท่านอยู่ผ่านการทำงานในรัฐสภา แต่ละท่านก็คงพยายามจะพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว

ส่วนกรณี เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย โพสทวิตเตอร์เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยโหวตนายกฯ ตามเสียงของประชาชน พิจารณ์ กล่าวว่า ในช่วงหาเสียงบางพรรคการเมือง เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะยกมือให้กับแคนดิเดตฯ จากพรรคที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือไม่ ต้องฝากพี่น้องสื่อมวลชนไปสอบถามดูอีกครั้ง ว่าจะทำตามคำที่พูดไว้หรือไม่ และจะเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย และพลิกโฉมการเมืองไทย ถ้าพรรคการเมืองต่างๆ ยอมรับเสียงของประชาชนและร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว.

เมื่อถามว่าได้พูดคุยแบบเป็นทางการกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ เรื่องการยกมือโหวตนายกฯ แม้จะไม่ได้ร่วมรัฐบาล พิจารณ์ ตอบว่า ถ้าแต่ละพรรคมีจุดยืนที่ไม่เคารพเสียงประชาชน ก็ไม่จำเป็นต้องคุยอะไรกันมาก