ไม่พบผลการค้นหา
'ราษฎรหยุดเอเปค' ยื่น 5 สถานทูตวอนอย่าสร้างความชอบธรรมให้ผู้นำเผด็จการ 'ประยุทธ์' นัดเดินขบวนจากแยกอโศกคู่ขนานการประชุม 17 พ.ย. นี้

วันที่ 15 พ.ย. 2565 เครือข่ายกลุ่มเคลื่อนไหว “ราษฎรหยุด APEC 2022” เดินทางไปยื่นหนังสือถึง 5 สถานทูต ได้แก่ สถานเอคอัครราชทูตแคนาดา, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เพื่อสื่อสารถึงชาติผู้เข้าร่วมการประชุม ถึงการรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในปัจจุบัน และจุดยืนของกลุ่มต่อการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในห้วงสัปดาห์นี้ (14-19 พ.ย.)

LINE_ALBUM_221115_11.jpg

โดยเนื้อหาแถลงการณ์ ระบุว่า ภายหลังการเลือกตั้งนายกรัฐนตรีในปี 2562 ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ปกติ ส่งผลให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การกลับมาของรัฐบาลเผด็จการ นำไปสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วประเทศ ในปี 2563 ซึ่งมีข้อเรียกร้องที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพ ต้องลาออก 2.) ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3.) ปฏิรูปสถาบันให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

โดยย้ำว่า ข้อเรียกร้องที่สาม ไม่ใช่เพื่อการล้มล้าง แต่เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและงบประมาณ เพื่อให้สถาบันมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เนื่องจากว่า ปัจจุบัน สถาบันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธุรกิจผูกขาดและยังมีบทบาทสำคัญในการผูกขาดธุรกิจ ทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะสถาบันหลักของชาติ นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

LINE_ALBUM_221115_4.jpg

เพราะ มาตรา 112 กลายมาเป็นอาวุธสำคัญของรัฐในการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ (SLAPPs) เนื่องจากการเคลื่อนไหวและการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันอย่างเปิดเผย เป็นเหตุให้นักกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงประชาชนทั่วไป ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้ความรุนแรงจากรัฐในรูปแบบต่างๆ 

อาทิ การใช้กำลังและความรุนแรงในการเข้าสลายการชุมนุมโดยสันติของประชาชน /การดำเนินคดีมาตรา 112 มาตรา 116 หรือการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน / ผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองเผผชิญความผิดปกติต่างๆและไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมภายใต้กฎกติการะหว่างประเทศที่รัฐไทยเป็นภาคี / การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชน จากการสอดแนมโดยรัฐ ผ่านการใช้สปายแวร์ในเครื่องมือสื่อสาร และการติดอุปกรณ์ GPS ในยานพาหนะส่วนบุคคล เป็นต้น

ดังนั้น ทางกลุ่มจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในฐานะตัวแทนจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย จะมีการพิจารณาถึงการละมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลไทยดังที่กล่าวมา และเชื่อมั่นว่า การประชุมเอเปค ไม่ควรเป็นเวทีในการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำที่ได้อำนาจมาจากกระบอกปืน ไม่ใช่อาณัติของประชาชน

นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังเปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ย. นี้ ตั้งแต่เวลา 12:00 น. เป็นต้นไป ทางกลุ่มจะรวมพลกันบริเวณแยกอโศก ก่อนเดินขบวน แต่งกายชุดแฟนซี ไปยื่นหนังสือในประเด็นเดียวกัน ต่อเหล่าผู้แทนชาติเอเปค ยืนยันว่า ไม่ได้มีความต้องการสร้างความเดือดร้อนหรือความวุ่นวายให้เกิดขึ้น ต่อภาพลักษณ์ของประเทศตามที่ถูกหลายฝ่ายกล่าวหาแต่อย่างใด