นายชาญยุทธ พรหมประพัฒน์ ผู้อำนวยการกองสุขศึกษา กล่าวว่า วัณโรคหรือโรคทีบี เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรัง ที่สามารถแพร่ทางอากาศไปสู่ผู้อื่นผ่านการไอ จาม การพูด และหายใจเอาเชื้อเข้าไปภายในปอด หรืออยู่ร่วมกับผู้ป่วยติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โดยเชื้อวัณโรคสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นาน 7-10 วัน เมื่อคนทั่วไปหายใจหรือสูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยที่ ไอ จาม หรือ หายใจรด ก็จะได้รับเชื้อโรคนี้
โดยส่วนใหญ่แล้วการอักเสบจะเกิดขึ้นในปอด แต่ก็สามารถเกิดกับอวัยวะอื่นๆ ได้เกือบทุกส่วน เช่น ประสาท สมอง ต่อมน้ำเหลือง ลำไส้ ตับ ระบบขับถ่าย กระเพาะปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ กระดูกและข้อ
อาการวัณโรคปอด จะมีอาการไข้ต่ำๆ เรื้อรัง มักมีเหงื่อออกในตอนกลางคืน น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีอาการไอเกิน 3 สัปดาห์ ช่วงแรกจะไอแห้งๆ ต่อมาจะมีเสมหะออกมา บางครั้งมีเลือดปนเสมหะออกมาด้วย
กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อวัณโรค คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยมะเร็ง เด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ใช้สารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และผู้ที่ชอบเที่ยวสถานบันเทิงกลางคืน
นายชาญยุทธ กล่าวต่อว่า ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มให้ตนเองห่างไกลวัณโรคด้วยสุขบัญญัติ โดยควรปฏิบัติให้เป็นนิสัย ดังนี้
1. ออกกำลังกาย เป็นประจำสม่ำเสมอ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ อย่างน้อย 30 นาที
2. รับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ เหมาะสมตามวัย ปรุงสุกใหม่ สะอาด ครบ 5 หมู่
3. ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อคัดกรองโรค โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อวัณโรค และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่อับทึบที่มีระบบการระบายอากาศไม่ดี
4. รับผิดชอบต่อสังคม หากเป็นผู้ป่วย ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคสู่ผู้อื่น ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย