ไม่พบผลการค้นหา
‘ธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์’ เข้าสภาฯ ชวนจับตาร่างแก้ไข รธน. ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ เพิ่มความอิสระ-ปลดปล่อยศักยภาพ-กระจายอำนาจ ชวนรัฐสภารับหลักการเพื่อความเปลี่ยนแปลง ยันหากถูกตีตกพร้อมเดินหน้าต่อ

วันที่ 29 พ.ย. ที่อาคารรัฐสภา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เดินทางมาติดตามการอภิปรายและร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ เพื่อให้มีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย 

โดย ธนาธร ได้เปิดเผยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว ว่าด้วยเรื่องของการกระจายอำนาจ ไม่มีการรวมศูนย์ ซึ่งร่างดังกล่าวนั้นจะมีการอธิบายในเรื่องของการจัดสรรภาษีให้เกิดความเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันส่วนกลางมีการจัดเก็บภาษีถึงร้อยละ 70 โดยจะเป็นการปรับรูปแบบใหม่ให้เป็นร้อยละ 50 เท่ากัน เพื่อให้ในส่วนท้องถิ่นมีงบเพียงพอที่จะไปตอบสนองความต้องการของประชาชน 

ส่วนในเรื่องของอำนาจ ทุกวันนี้มีประกาศคำสั่งจากกระทรวงเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการรวมศูนย์และไม่กระจายสู่ท้องถิ่น และท้องถิ่นไม่สามารถออกแบบการทำงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่ หากมีการกระจายอำนาจในส่วนนี้ก็จะทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นในการผลักดันการพัฒนาต่างๆ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกรัฐสภาจะเห็นชอบกับรายละเอียดดังกล่าวและรับหลักการ ส่วนรายละเอียดเนื้อหาไหนที่อาจมีสมาชิกไม่เห็นด้วย ก็ยังสามารถแก้ไขในรายละเอียดได้ในวาระ 2 

“ผมเชื่ออย่างยิ่งว่าร่างฯ นี้จะเป็นการปลดล็อกศักยภาพของสังคมไทย จะทำให้ประเทศไทยที่ถูกกักขังมานาน ชนบทไทยที่ไม่สามารถพัฒนาได้ สามารถเดินไปข้างหน้าอย่างมีพลังและการมีส่วนร่วมของประชาชน พลังความคิดสร้างสรรค์ของประเทศไทยจะถูกระเบิดออกมา” ธนาธร กล่าว 

ธนาธร ยังระบุว่า ส่วนตัวยังเห็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ การจัดทำประชามติ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มีการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันทำประชามติ ว่าหากมีการนำงบประมาณไปให้ส่วนท้องถิ่นมากขึ้น บทบาทและข้าราชการในส่วนของภูมิภาคจะเป็นอย่างไร โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะให้มีการทำประชามติเพื่อยุบข้าราชการส่วนภูมิภาค และควบรวมงบประมาณและข้าราชการเข้าส่วนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 

ด้าน ปิยบุตร ระบุว่า คณะก้าวหน้าได้เดินทางรณรงค์ทั่วประเทศ จนได้รับแรงสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ รวมถึงสมาคมองค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมาคมองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และยังรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้กว่า 80,000 ชื่อด้วย พร้อมยืนยันว่า แม้สภาฯ จะหมดสมัยไป หรือมีการยุบสภาฯ ก็สามารถเสนอให้นำร่างนี้กลับมาพิจารณาใหม่ได้ในรัฐบาลชุดต่อไป

“พี่น้องประชาชนอาจจะตั้งคำถามว่า เอาอีกแล้ว เข้าชื่อกันอีกแล้ว ที่ผ่านมาร่างแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งหลายหนยื่นเข้ามาก็ตกทุกที และเป็นช่วงปลายสมัยแล้วด้วย จะยื่นเข้ามาเพื่ออะไร แต่ร่างวันนี้ถ้าหากสมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระ 1 รับหลักการ แม้สภาจะสิ้นอายุขัย แม้จะยุบสภา อันอาจทำให้ร่างฯ นี้ตกไป แต่ ครม. ชุดต่อไป มีสิทธิร้องขอต่อรัฐสภาให้นำร่างฯ นี้มาพิจารณาใหม่ได้” ปิยบุตร กล่าว

ขณะที่ พรรณิการ์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนร่วมกันจับตารัฐสภาแห่งนี้ในการรับหลักการร่างฯ ในวันที่ 29-30 พ.ย. นี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบราชการครั้งเดียวแต่ลงไปถึงฐานราก เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 130 ปี ซึ่งตนอยากให้รัฐสภาชุดนี้มีโอกาสได้เป็นส่วนร่วมของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้