ไม่พบผลการค้นหา
'ชลน่าน' ย้ำกลางสภาฯ 'เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย' แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ยอมบำบัดก็ติดคุก มั่นใจระบบการบำบัดยาเสพติด คืนโอกาสผู้เสพ 1.9 ล้านคนสู่สังคมได้

วันที่ 15 ก.พ. ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแกัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายประเด็นเรื่องของกฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติด ที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 ก.พ. ที่กำหนดปริมาณยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญยาเสพติดมาตรา 107 วรรคสอง หากมีการครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ประเภท 2 และประเภท 5 ในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนดไว้ มีไว้เพื่อเสพจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงรองรับ ไม่ใช่การออกกฎเพื่อยกเว้นความผิด เป็นการให้โอกาสผู้หลงผิดกลับตัวเป็นคนดีในสังคม และต้องการแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า อีกทั้งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ใช้เพื่อแก้ไขและไม่ให้เกิดกลุ่มใหม่ หากมีครอบครองเกินกำหนดให้สันนิษฐานเบื้องต้นมีไว้เพื่อเสพ นำเข้าสู่การบำบัดรักษา จะเป็นข้อชี้บ่งว่าเมื่อเข้าสู่การบำบัดรักษาจะมีโอกาสไม่ต้องรับโทษ 

ส่วนประเด็นที่สองที่มาของการกำหนดปริมาณ มาจากคณะกรรมการหลายภาคส่วน ทั้ง ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม อัยการ ทหาร และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณาปริมาณที่เหมาะสม ยาบ้า 5 เม็ด น้ำหนักไม่เกิน 500 มิลลิกรัม เหตุผลที่ตนฟังกรรมการพิจารณาคือเหตุผลจากการแพทย์ รวมถึงกระบวนการค้า และการขาย 

สำหรับเหตุผลทางการแพทย์ที่จำกัดไว้ 5 เม็ด ใช้ลักษณะอาการของการเสพเป็นตัวชี้วัด และนำเข้าสู่การบำบัด เหตุผลที่สองพฤติกรรมการเสพ ผู้เสพจะพกยา 1-3 เม็ด จึงสันนิษฐานว่าถ้าเกิน 5 เม็ด จะต้องมีเหตุผลอื่น ส่วนประเด็นที่สามเรื่องการค้า ผู้ค้าส่วนใหญ่จะทำแพ็ค 10 เม็ด เพราะมีความคุ้มทุน และผู้ซื้อมีทุนทรัพย์ ซึ่งการกำหนดของคณะกรรมการยังไม่สิ้นสุด ตนขออธิบายว่ากฎกระทรวงเข้าสู่เวทีรับฟังความคิดเห็นช่วงเดือนพฤศจิกายน 15 วัน ให้ทุกคนมาแสดงความคิดเห็นในการกำหนดปริมาณยา จึงนำความคิดเห็นทั้งหมดนำมาประมวล ยอมรับว่ามีเห็นต่าง แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วย เราจึงนำร่างนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและมีมติเห็นชอบวันที่ 22 ธันวาคม 66 ร่างนี้จึงส่งให้กฤษฎีกา และกฤษฎีกาส่งมาที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามวันที่ 31 มกราคม 67 ประกาศใช้วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 67 

จากนั้น สัญญา นิลสุพรรณ สส.นครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงตัวชี้วัดทางการแพทย์ว่ายาบ้า 5 เม็ด ส่งผลต่อประสาท แต่ถ้าเสพทุกวัน วันละ 1-2 เม็ด จะมีผลทางการแพทย์หรือไม่ และเรื่องความพร้อมของสถานที่บำบัด การติดตาม มีแผนงานอย่างไรและมีความพร้อมแค่ไหน

นพ.ชลน่าน ได้ตอบคำถามประเด็นดังกล่าวว่า เราแบ่งลักษณะอาการของผู้เสพอ้างอิงจากอาการทางจิตเป็นหลัก ผู้ที่เสพ 1-2 เม็ด จะไม่มีอาการทางจิต อยู่ในกลุ่มสีเขียว คนกลุ่มนี้ ปี 66 มีจำนวน 1,460,000 คน ส่วนปี 67 26,000 คน เป็นกลุ่มผู้ไม่มีอาการทางจิต แต่ถ้าปริมาณเกิน 5 เม็ดขึ้นไป จะมีอาการกระสับกระส่าย จะอยู่ในกลุ่มสีเหลืองและสีส้ม ส่วนกลุ่มสีแดงถือว่าเป็นกลุ่มอันตรายต่อสังคม

ส่วนความพร้อมของสถานบำบัด นโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติที่ นายกฯ ได้แถลงต่อรัฐสภา จะต้องลดจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี ต้องมีการประกาศยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ปลุก เปลี่ยน ปราบ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขรองรับโดยกำหนดให้มีสถานบำบัดยาเสพติด ที่ได้กระจายไปทุกจุดในโรงพยาบาลที่มีการบำบัดทางการแพทย์ 153 แห่ง และมีหน่วยบำบัดในโรงพยาบาลชุมชนที่สามารถทำงานได้ถึงร้อยละ 80 

นพ.ชลน่าน ระบุอีกว่า จะใช้ชุมชนเป็นฐานในการบำบัด ไม่นำผู้ป่วยออกจากชุมชน เนื่องจากในยุคก่อนจะแยกผู้ป่วยและส่งกลับชุมชนในสภาพแวดล้อมเดิม จึงทำให้เสพซ้ำได้ สิ่งที่ต้องทำกฎหมายฉบับนี้เป็นวิธีการใหม่ ใช้ชุมชนเป็นฐานในการบำบัด ซึ่งมี 5 เสือดูแล คือ ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ สาธารณสุข และท้องถิ่น ร่วมกันโอบอุ้มสังคมกว่า 100 สังคมทั่วประเทศ ดังนั้นชุมชนบำบัดจะเป็นสถานบำบัดฟื้นฟูทางสังคม อีกทั้งการบำบัดเราแยกเป็นเป็นการบำบัดทางการแพทย์ และการบำบัดทางสังคม ผู้ที่ไม่มีอาการแต่เป็นผู้เสพหรือผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะต้องเข้าสู่การบำบัดก่อนคืนสู่สังคม เพื่อให้มิติสุขภาพร่างกายและจิตใจมีความเข้มแข็ง มิติด้านปัญญา มิติอาชีพและการศึกษา สถานะทางสังคม นี่คือหลักการภายใต้กฎหมายการคืนคนดีหรือให้โอกาสคนที่หลงผิดกลับสู่สังคม จะเป็นวิธีการแก้ปัญหา หลายคนยึดติดกฎหมายเดิม ใช้บังคับบำบัดแยกสถานบำบัดออกไป แต่ไม่แก้ไขสิ่งแวดล้อม ทำให้กลับไปเสพซ้ำเป็นจำนวนมาก ตนเชื่อมั่นว่า การบำบัดของชุมชนจะทำให้พวกเขากลับมาอยู่ในสังคมได้ 

ส่วนการบำบัดจะสำเร็จหรือไม่ ถ้าเป็นกฎหมายเดิมไม่สำเร็จ แต่ยุคใหม่เรามั่นใจว่าเราทำสำเร็จ เพราะการบำบัดการแพทย์จะลดอาการความบอบช้ำทางสมองให้ฟื้นคืนใช้เวลา 4 เดือน ผ่านการประเมิน ทำครบตามกระบวนการ ผู้อำนวยการสถานบริการหรือโรงพยาบาลแห่งนั้น จะออกหนังสือรับรองว่าผ่านการบำบัด ขั้นตอนต่อไปจะส่งสู่สถานบำบัดในชุมชน และติดตาม 1 ปี เราจึงมั่นใจและเชื่อว่าระบบการบำบัดฟื้นฟูแบบใหม่จะแก้ไขปัญหาและคืนโอกาสคน 1,900,000 คน ให้คืนสู่สังคมได้


ส่วนเรื่องการให้โอกาสเป็นผู้ครอบครองไว้เพื่อเสพ และไม่ผิดกฎหมาย ตนขอเน้นย้ำว่า ครอบครองยาบ้า 5 เม็ด ไม่ผิดกฎหมาย แต่ครอบครองไว้เพื่อค้าล้วนผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากไม่มีพฤติกรรมเป็นผู้ค้า และพิสูจน์ได้ จะเข้าสู่กระบวนการบำบัด และพ้นผิดหากสมัครใจ ต้องผ่านการบำบัดจนครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด 4 เดือน และได้หนังสือรับรองจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่าผ่านการบำบัดแล้ว 3 ข้อนี้จะเป็นหลักฐานยืนยันกับผู้ดำเนินคดีว่า ผ่านการบำบัดไม่ต้องรับผิด ถ้าทำแล้วไม่สำเร็จหนีการบำบัดก็จะต้องกลับมารับโทษ และถ้าไม่ผ่านการรับรองก็ยังอยู่ในข้อหา การไม่ต้องรับโทษต้องทำให้ครบกระบวน ใช้การบำบัดเป็นการลงโทษแทนการจำคุก