ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอุทธรณ์ ไม่ให้ประกันตัวอานนท์ ต.ค. มีพิพากษา 112 16 คดี สั่งขังเพิ่ม 3 ราย

เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง 'ยกคำร้อง' ขอประกัน 'อานนท์ นำภา' หลังจากทนายความยื่นขอประกันตัวอานนท์เป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ในคดี 112 เหตุจากการปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563

ศาลให้เหตุผลว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบกับศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี อีกทั้งศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม" จับตายื่นประกัน 'วารุณี' รอบที่ 6 หลังถูกขัง 4 เดือน

นอกจากนี้ทนายความยังยื่นคำร้องขอประกันตัว 'วารุณี' ผู้ต้องหาคดี 112 อีกคนหนึ่งเป็นครั้งที่ 6 ในคดีโพสต์ภาพตัดต่อขณะในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต โดยวารุณีถูกคุมขังมาแล้ว 129 วัน หรือกว่า 4 เดือน

คำร้องขอประกันระบุว่า สภาพการคุมขังในเรือนจำ รวมถึง รพ.ราชทัณฑ์ ส่งผลกระทบต่อโรคไบโพลาร์ของจำเลย นอกจากนี้ ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน ซึ่งไม่ใช่อัตราโทษที่สูง และจำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาฯ กำหนดให้ศาลชั้นต้นพิจารณาให้ประกันจำเลยโดยไม่ต้องส่งศาลอุทธรณ์พิจารณา ทั้งนี้ คำร้องยังแสดงความยินยอมติด EM หรือให้ศาลกำหนดเงื่อนไขอื่นเพื่อป้องกันการหลบหนี

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญายังคงมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเช่นเดียวกับทุกครั้ง และเช่นเดียวกับคดีทางการเมืองคดีอื่นๆ

ตุลาคมเดือนเดียว ตัดสินแล้ว 16 คดี เข้าคุกเพิ่ม 3 คน

ศูนย์ทนายฯ ยังรายงานสถิติคดีประจำเดือนตุลาคมด้วยว่า นับเป็นเดือนที่มีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มากที่สุดเดือนหนึ่ง โดยศาลมีคำพิพากษาเดือนเดียว 16 คดี และมีผู้ถูกคุมขังเพิ่มเติมในรอบเดือนอีก 3 ราย ทำให้จำนวนผู้ถูกคุมขังทางการเมืองยังทยอยเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่คดีจากการชุมนุมทางการเมืองพบว่ามีคดีที่เจ้าหน้าที่ทหารในจังหวัดเชียงใหม่มาเป็นผู้กล่าวหานักกิจกรรมด้วยตนเองทั้งตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ 'เยาวชนปลดแอก' เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึง 31 ต.ค.2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,930 คน ในจำนวน 1,253 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 216 คดี

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกันยายน 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2 คน คดีเพิ่มขึ้น 4 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน)

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,928 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 259 คน ในจำนวน 281 คดี

2. ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 177 คน ในจำนวน 90 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 187 คน ในจำนวน 207 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 38 คน ใน 21 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,253 คดีดังกล่าว มีจำนวน 441 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 812 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ