ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ทนายเผย สถิติคำพิพากษาคดี 112 เดือน ก.ค. 4 คดี พบลงโทษจำคุกทั้งหมด ไม่ได้ประกัน 1 ราย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่รายงานพิเศษ ทบทวนผลคำพิพากษาคดี 112 ในช่วงเดือน ก.ค. 2566 โดยระบุว่า ตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมา มีคำพิพากษาคดี 112 หรือคดีหมิ่นกษัตริย์ทั้งหมด 4 คดีด้วยกัน มีประชาชนเป็นจำเลยทั้งหมด 4 ราย ในจำนวนนี้มี 2 รายที่เป็นเยาวชนขณะเกิดเหตุ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 รายมีอายุ 19 ปี แล้ว คือ ‘เบลล์’ และ ‘สายน้ำ’

ศาลอ่านคำพิพากษาทั้ง 4 คดี ผลปรากฎว่า ศาลสั่งให้มีความผิดตามมาตรา 112 ทุกคดี แต่ละคดีศาลพิพากษาจำคุกก่อนลดหย่อน ตั้งแต่กรรมละ 1 ปี 6 เดือน ไปจนถึง 3 ปี ส่วนโทษหลังลดหย่อนมีตั้งแต่จำคุกกรรมละ 1 ปี ไปจนถึง 1 ปี 6 เดือน โดยมีเพียงคดีเดียวของ “เบลล์” ที่ศาลให้เปลี่ยนโทษจำคุกหลังลดหย่อนแล้วไปเป็นการคุมประพฤติและฝึกอบรม ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเป็นเวลา 2 ปีแทน  เนื่องจากขณะเกิดเหตุนั้นยังเป็นเยาวชนอายุเพียง 17 ปี 

ทั้งนี้ ในจำนวน 4 คดีที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดนั้น มีเพียงคดีเดียวที่ศาลให้รอการลงโทษไว้ คือคดีของ “สายน้ำ” ส่วนอีก 3 คดี ศาลให้รับโทษทันทีโดยไม่ให้รอการลงโทษไว้ ซึ่งต่อมาจำเลยได้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์เกือบทั้งหมด ยกเว้น 1 คดี ของ “วัฒน์” ที่ศาลไม่ให้ประกันชั้นอุทธรณ์และถูกคุมขังมาจนถึงปัจจุบัน


รับสารภาพ 2 คดี : ศาลพิพากษา “วัฒน์-อนุชา” ผิดทุกข้อหา จำคุกไม่รอลงอาญา ด้านวัฒน์ไม่ได้ประกันชั้นอุทธรณ์ 

คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำนวน 4 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่จำเลยกลับคำให้การเป็นรับสารภาพก่อนจะเริ่มสืบพยานในชั้นศาล จำนวน 2 คดี หนึ่งคดีถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปี 2563 ส่วนอีกคดีเป็นการแสดงออกระหว่างการชุมนุม เมื่อปี 2564 ซึ่งทั้งสองคดีศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้องทุกข้อหา ภายหลังศาลพิพากษา คดีของ “วัฒน์” ไม่ได้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์และถูกคุมขังมาจนถึงปัจจุบัน

1.คดีของ “วัฒน์” (นามสมมติ) ช่างตัดผม จ.ราชบุรี อายุ 29 ปี ถูกฟ้องในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) จากการโพสต์เฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาชื่นชมในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อปี 2563 ซึ่งถูกฟ้องเป็นความผิด 1 กรรม

ข้อความดังกล่าวมีใจความทำนองว่า จำเลยเคารพนับถือเพียงรัชกาลที่ 9 แม้จะเคยอ่านข้อมูลเรื่องสาเหตุการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง และเห็นว่ารัชกาลที่ 9 ทรงทำงานหนักเพื่อประชาชน แต่จำเลยไม่เห็นว่ารัชกาลที่ 10 ได้ทรงงาน จึงไม่จำเป็นต้องเคารพ

17 ก.ค. ศาลอาญาพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้องทุกข้อหา ให้ลงโทษในข้อหา ม.112 ที่มีโทษหนักสุด จำคุก 3 ปี แต่ให้ลดกึ่งหนึ่ง เพราะรับสารภาพ คงเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ภายหลังศาลมีคำพิพากษาได้ส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องประกัน วัฒน์จึงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเย็นวันนั้นทันที ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

2.คดีของ “อนุชา” (สงวนนามสกุล) ประชาชนวัย 48 ปี ถูกฟ้องในข้อหา ม.112 และอีก 3 ข้อหา จากการชูแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ใน #ม็อบตำรวจล้มช้าง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 โดยป้ายไวนิลดังกล่าวปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 และบริเวณตรงกลางแผ่นป้ายมีตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ทับ พร้อมกับมีข้อความอื่นอีกหลายข้อความในแผ่นป้าย ทั้งภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน ซึ่งจําเลยใช้ปากกาและหมึกสีประเภทต่างๆ เขียน และพิมพ์ขึ้นมา ซึ่งถูกฟ้องเป็นความผิด 1 กรรม

10 ก.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้องทุกข้อหา ให้จำคุกในข้อหา ม.112 เป็นเวลา 3 ปี แต่ลดกึ่งหนึ่ง เพราะรับสารภาพ คงเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และยังลงโทษปรับในข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ รวมทั้งสิ้น 4,000 บาทด้วย

ทว่า ภายในวันเดียวกันศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์ทันที โดยไม่ส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง แต่ให้เพิ่มเงินประกัน จากเดิม 75,000 บาท เป็น 225,000 บาท

    

สู้ชั้นศาล 2 คดี : “เบลล์ – สายน้ำ” เป็นเยาวชนทั้งสอง สายน้ำต้องโทษจำคุกปีครึ่ง แต่ได้รอลงอาญา ขณะเบลล์รับโทษฝึกอบรมแทนจำคุก ก่อนได้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์

คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำนวน 4 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่จำเลยยืนยันต่อสู้คดีในชั้นศาล จำนวน 2 คดี หนึ่งคดีถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อปี 2563 ส่วนอีกคดีเป็นการแสดงออกระหว่างการชุมนุม เมื่อปี 2563 เช่นกัน ซึ่งทั้งสองคดีศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริง แต่ได้ยกฟ้องบางข้อหาที่ไม่ใช่ ม.112 ด้วย  

1.คดีของ “เบลล์” ปัจจุบันเป็นนักศึกษาอายุ 19 ปี ขณะเกิดเหตุเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ถูกฟ้องว่า ในข้อหา ม.112, ม.116 (2) (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) จากการโพสต์รูปภาพถ่ายจุดต่างๆ ใน จ.พัทลุง และใส่ข้อความทางการเมืองประกอบลงในเพจเฟซบุ๊ก “พัทลุงปลดแอก” และ “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” เมื่อช่วงเดือน พ.ย. ปี 2563

ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า เบลล์และพวกอีก 3 คน ได้ร่วมกันถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ อนุสรณ์สถาน พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ในท้องที่อำเภอเมืองพัทลุง แล้วนำไปตัดต่อพิมพ์ประกอบข้อความที่จัดทำขึ้น แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “พัทลุงปลดแอก” จำนวน 5 ภาพ และเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “ประชาธิปไตยในด้ามขวาน” จำนวน 15 ภาพ

ข้อความในภาพ อาทิเช่น “Land of Compromise ทำไมใช้ ม.112 #กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ”, “ไปด้วยกัน ไปได้ไกล ไปด้วยความรักความสามัคคี”, “EAT THE RICH”, “คิดถึงยอด SCB ใจจะขาด”, “เผด็จการจงพินาศ เป็ดก้าบ ก้าบ จงเจริญ” ซึ่งถูกแยกฟ้องเป็น 2 กรรม จากการโพสต์ข้อความลง 2 เพจเฟซบุ๊ก

12 ก.ค. ศาลพิพากษายกฟ้องเฉพาะข้อหา ม.116 (3) ส่วนข้อหาอื่นพิพากษาว่าผิดจริงตามฟ้อง พิพากษาจำคุกในข้อหา ม.112 กรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวม 2 ปี 12 เดือน แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยยังเป็นเยาวชน จึงเปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นการคุมประพฤติแทน โดยจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ที่ศูนย์ฝึกอบรมเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเวลา 2 ปี

ต่อมา ในวันเดียวกันศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์ทันที โดยให้วางหลักประกันเพิ่มเติมอีก 2,500 บาท รวมทั้งสิ้น 7,500 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวให้มารายงานตัวต่อศาลตามที่กำหนดในทุกเดือน และห้ามกระทำในลักษณะเดิมอีก

2.คดีของ “สายน้ำ” ถูกฟ้องในข้อหา ม.112 และอีก 3 ข้อหา จากเหตุแต่งเสื้อครอปท็อป (เสื้อกล้ามเอวลอย) เข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และเขียนข้อความบนร่างกายในการชุมนุม #ภาษีกู ที่บริเวณด้านหน้าของวัดแขก บนถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563

พฤติการณ์สรุปได้ว่า สายน้ำร่วมเดินแฟชั่นโชว์บนพรมแดง โดยแต่งกายด้วยชุดครอปท็อปสีดํา สวมกางเกงยีนส์ขายาว ใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” โดยก่อนที่สายน้ำจะเดินออกมา บุคคลซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครที่ทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อสายน้ำเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมได้ตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ๆ” ซึ่งถูกฟ้องเป็นความผิด 1 กรรม

20 ก.ค. ศาลพิพากษาว่ายกฟ้องเฉพาะข้อหา พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ แต่พิพากษาว่าผิดข้อหา ม.112 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ศาลลงโทษจำคุกในข้อหา ม.112 เป็นเวลา 3 ปี แต่ให้ลดกึ่งหนึ่ง เนื่องจากขณะเกิดเหตุยังเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้ลดโทษอีก 1 ใน 3 เพราะให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง คงเหลือโทษจำคุก 12 เดือน ศาลยังลงโทษปรับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเงิน 4,000 บาทด้วย อย่างไรก็ตาม โทษจำคุกศาลให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากเป็นการทำความผิดครั้งแรก