แต่การทดลองใหม่จากสหรัฐฯ ในครั้งนี้ กลับสามารถทำให้กบที่ขาขาดไปสามารถงอกขาใหม่ออกมา และขาที่งอกออกมาใหม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า ผลลัพธ์จากการทดลองในครั้งนี้ อาจจะช่วยปูทางสู่การงอกอวัยวะของมนุษย์กว่าล้านคน ที่สูญเสียแขนขาจากโรคเบาหานและอุบัติเหตุในอนาคตได้
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ สามารถทำการทดลองการกระตุ้นการงอกขาใหม่ของกบเล็บแอฟริกา (Xenopus laevis) ได้สำเร็จ โดยนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการทดลองในครั้งนี้เป็น “ก้าวที่เข้าใกล้ความสำเร็จในการรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟู”
วิธีการดังกล่าวถูกใช้โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิสส์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยทัฟส์ ผ่านตัวยา 5 ชนิดมาผสมกันลงไปในส่วนขาที่ขาดของกบซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งแหลม ก่อนปิดผนึกด้วยโดมซิลิโคนขนาดเล็ก โดยตัวยาถูกใช้กับขาที่ขาดของกบประมาณ 24 ชั่วโมง แต่หลังจากการทดลองได้ 18 เดือน ขาที่ขาดไปของกบกลับสามารถงอกออกมาและสามารถใช้งานได้เหมือนปกติ
กบตัวดังกล่าวซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำ สามารถว่ายน้ำได้ตามปกติและมีปฏิกิริยาตอบรับเมื่อถูกสัมผัส ทั้งนี้ นิ้วของกบสามารถงอกกลับมาได้ด้วยเช่นกัน แต่พังผืดระหว่างนิ้วไม่สามารถงอกกลับมาได้เช่นเคย และตุ่มบางส่วนของกบกลับเปลี่ยนสภาพกลายเป็นนิ้วเท้า โดยมีโครงสร้างของอวัยวะบางอย่างที่ยังคงไม่ถูกต้องตามธรรมชาติแต่เดิม
ตัวยาที่นำมาใช้กับขากบที่ขาดไปในระยะเวลาไม่นาน ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า กบและสัตว์ชนิดอื่นๆ อาจมีความสามารถในการงอกอวัยวะใหม่ หากได้รับการกระตุ้นเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาได้ อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยตัวยาเพื่อให้แขนขาของมนุษย์เกิดการงอกใหม่นั้น อาจจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ แต่การทดลองในครั้งนี้ช่วยเปิดวิธีการรักษาแบบใหม่ในสัตว์ ผ่านการใช้ยาเพื่อกระตุ้นให้อวัยวะสัตว์เกิดการงอกใหม่
ทั้งนี้ การทดลองใช้กบจำนวนกว่าร้อยตัว ซึ่งผลการทดลองนั้นไม่ได้ออกมาสมบูรณ์แบบในกบทุกตัว โดยในอนาคต นักวิทยาศาสตร์คาดว่าพวกเขาอาจจะทดลองการงอกของอวัยวะกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพิ่มเติม อาทิ หนู
นักวิทยาศาสตร์อาศัยความสามารถของความทรงจำร่วมในเซลล์ ก่อนนำมากระตุ้นด้วยตัวยาเพื่อให้เซลล์เริ่มกระบวนการฟื้นฟูตัวเอง โดยตัวยามีสรรพคุณในการช่วยการพัฒนาของแขนขา รวมถึงมีคุณสมบัติในการต้านอาการอักเสบ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า การผสมตัวยาที่แตกต่างอาจช่วยให้การฟื้นฟูอวัยวะแตกต่างกันออกไปได้ในอนาคต
ที่มา: