ไม่พบผลการค้นหา
'ชวน' ภูมิใจสภาอยู่ครบ 4 ปี แบบนี้มีไม่บ่อย มองสมัยนี้ ส.ส.หน้าใหม่เยอะ โดนติงแต่งกายไม่สุภาพ ฝากเป็นบทเรียนสมัยหน้า มองรัฐบาลชุดต่อไปพรรคการเมืองจะน้อยลง ไม่อยากวิจารณ์ใครแอบจับมือใครเบื้องหลัง สื่อรู้กันดี

วันที่ 20 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวสืบเนื่องจากคาดหมายว่าจะการยุบสภาภายในวันนี้ จึงขอรายงานสถานภาพของสภาฯ เป็นครั้งสุดท้าย โดยเผยว่าช่วงเริ่มต้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน และปัจจุบันคงเหลืออยู่ 393 คน

ชวน ระบุว่า ในระบบรัฐสภานี้ กฎหมายคือเครื่องมือที่ฝ่ายบริหารต้องใช้ โดยในช่วงปลายสมัยประชุมสุดท้าย รัฐบาลได้ส่งกฎหมายมาอีกหลายฉบับ แต่ไม่สามารถนำองค์ประชุมมาได้ จนตนต้องทำหนังสือไปร้องขอฝ่ายบริหาร และแนะนำวิธีปฏิบัติคือให้แต่ละหัวหน้าพรรคหารือกันว่าจะส่งสมาชิกมากี่คนให้ครบองค์ประชุม แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้ 

"แต่ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่าภูมิใจที่สภาฯ อยู่ได้มาครบ 4 ปี ไม่ได้มีอย่างนี้ทุกครั้งไป ฝ่ายนิติบัญญัติก็ทำหน้าที่ได้เกือบครบถ้วน ถ้าไม่นับกฎหมายที่ยังค้างอยู่ไม่สามารถผ่านได้เลย เช่น พ.ร.บ.กัญชา กัญชง วุฒิสภาก็มีกฎหมายค้างอยู่ฉบับเดียว เพราะองค์ประชุมไม่ครบเช่นกัน"

ชวน ยังกล่าวถึงกรณีที่อยากเรียนเป็นการส่วนตัว คือตนนั่งเป็นประธานการประชุมมาตลอด 4 ปี ซึ่งอาจเป็นเรื่องแปลกสำหรับข้าราชการประจำ ที่ปกติประธานสภาฯ จะให้รองประธานฯ ทำหน้าที่ ส่วนประธานฯ จะได้เดินทางไปภารกิจต่างประเทศ แต่ส่วนตัวตนไม่เคยไปเลย เพราะตั้งใจจะนั่งควบคุมการประชุมให้ได้มากที่สุด 

เนื่องจากตนเห็นว่าสภาฯ ชุดนี้เป็นชุดพิเศษ ที่เกิดขึ้นมาหลังว่างเว้นการเลือกตั้งไป 5 ปี จึงเห็นว่า ส.ส.ใหม่อาจต้องการคำแนะนำเป็นพิเศษ ตนจึงต้องการอยู่ควบคุมการประชุมเป็นส่วนมาก ซึ่งสมาชิกก็ให้ความร่วมมือด้วยดี มากถึงประมาณ 99% เช่น ยอมถอนคำพูดที่ไม่เหมาะสม และความตรงต่อเวลา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่สมาชิกสภาฯ มี 500 คน โดยเป็น ส.ส.ใหม่ไปเกินครึ่ง โดยการประชุมสถาบันพระปกเกล้าครั้งล่าสุด มีการอธิบายบทบาทของสมาชิกสภาฯ ว่า มีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไป และบางพฤติกรรมผู้ทรงคุณวุฒิไม่เห็นด้วย เช่น การแต่งกาย ตนชี้แจงว่าได้ขอ และตักเตือนให้สมาชิกทำตามข้อบังคับ คาดว่าจะพยายามแสดงความเป็นคนสมัยใหม่ด้วยการแต่งกายไม่เรียบร้อย แต่สภาฯ มีข้อบังคับอยู่ สังคมจะคงอยู่ได้ต้องเคารพกติกา 

ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงกำหนดให้สถาบันพระปกเกล้ากำหนดหลักสูตรฉบับสั้นให้สภาฯ ชุดต่อไป โดยหวังว่าจะทำให้ ส.ส.มีความรัดกุมมากขึ้น เข้าใจหน้าที่และภารกิจชัดเจน และคาดหมายว่าจะเชิญตนไปบรรยายในฐานะที่เป็นประธานสภาฯ แต่ก็ยังเป็นเรื่องของอนาคต

สรุปสุดท้าย ชวน กล่าวว่า ตนยินดีที่สภาสามารถอยู่ได้ครบ 4 ปี กรณีนี้ไม่ได้มีทุกครั้ง อนาคตต้องพยายามให้ 4 ปีนี้ เป็นบทเรียน ทั้งทางบวก คือทำหน้าที่ตามกฎหมายตรวจสอบฝ่ายบริหาร และทางลบคือพฤติกรรมไม่ถูกต้อง หาผลประโยชน์ แต่งตั้งบุคคลที่ไม่เหมาะสมเป็นสมาชิกกรรมาธิการ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว รวมถึงพฤติกรรมการข่มขู่คุกคาม จนต้องเป็นภาระของคณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร

เมื่อถามถึงบรรยากาศการเมืองหลังยุบสภา ชวน มองว่า คาดหมายยาก แต่ดูตามโพลก็ไม่รู้ว่าใครจะแลนด์สไลด์บ้าง แต่เชื่อว่าจำนวนพรรคการเมืองก็คงลดลง รัฐบาลคงไม่ประกอบด้วยพรรคการเมืองถึง 19 พรรค อย่างที่เป็นในชุดที่ผ่านมา แต่ยังมีเวลา ถ้ายุบสภาวันนี้ ภายใน 5 วัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศเลือกตั้งในวันใด ถ้าเป็น 7 พ.ค. ก็อีกประมาณ 50 วันเศษ ถ้าเลยไป 14 พ.ค. ก็ 56 วัน ซึ่งรอประกาศราชกิจจานุเบกษาในวันนี้อยู่ 

"ยังไม่สามารถคาดหมายว่า รัฐบาลชุดหน้าใครจะจับมือกับใคร ผมเข้าใจว่าสื่อมวลชนคงรู้ดีกว่าผม ว่าใครจับมือกับใครไว้ล่วงหน้า ถึงจะปฏิเสธกันไปแล้ว แต่เบื้องหลังเป็นอย่างไรเราก็คงจะรู้ ก็ขอไม่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนั้น" ชวน กล่าว

ชวน ยังเผยว่า ต่อไปตนจะเตรียมลงพื้นที่ช่วยพรรคประชาธิปัตย์หาเสียง ส่วนพรรค ประชาธิปัตย์จะเชิญ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาช่วยหาเสียงด้วยหรือไม่นั้น ชวน กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ อภิสิทธิ์ 

ทั้งนี้ มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้น เมื่อตนได้ลงพื้นที่หาเสียงก็จะช่วยคุยกับประชาชนอีกทางหนึ่งว่าปัจจุบันการเมืองเป็นอย่างไร แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน พร้อมย้ำว่า ในบั้นปลายชีวิตอยากออกไปขอบคุณชาวบ้าน ก่อนที่จะตนเป็นอัลไซเมอร์ไป