ไม่พบผลการค้นหา
'นิกร' แนะต้องถอดบทเรียนแก้ รธน. จากปี 2540 ชี้ ‘อ่อนตัว-แก้ง่าย’ รับยังหวั่น ปชช. ออกมาใช้สิทธิประชามติไม่ถึง 26 ล้านคน เห็นชอบไม่ถึง 13.5 ล้านคน

วันที่ 10 ธ.ค. 2566 ที่ลานประชาชน อาคารรัฐสภา ในการเสวนา “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หน้าตาเป็นอย่างไร” นิกร จำนง ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กล่าวถึงประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ซึ่งถือว่าน่ายินดี เพราะมีส่วนร่วมจากประชาชนค่อนข้างมาก แต่ก็ประสบปัญหาตรงที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ได้มีการแก้ไข อีกทั้งยังแก้ยาก ส่งผลให้ฝ่ายการเมืองมีอำนาจมากเกินไป ดังนั้น จึงเห็นว่าวันนี้ควรมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน

นิกร ย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จึงต้องมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) พร้อมย้ำข้อเสนอว่า สัดส่วนของวุฒิสภาที่มีสิทธิออกเสียง ก็ทำให้แก้ยากอีก จึงเสนอว่าในครั้งนี้ควรใช้เสียงเพียง 2 ใน 3 เพื่อให้มีเพียงสภาผู้แทนราษฎรจับมือกัน ก็สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากทุกวันนี้โลกหมุนเร็ว ปัญหาของปี 2540 ก็อาจไม่ใช่ปัญหาของวันนี้ และปัญหาของวันนี้ก็คงไม่ใช่ปัญหาของ 10 ปีข้างหน้า

“ถ้าเราเขียนรัฐธรรมนูญไว้ให้มันอ่อนตัว แก้ไขได้ ประชาชนสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ในอนาคต รัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกก็จะไม่มี เพราะเหตุที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกก็เพราะแก้ไขยาก” นิกร กล่าว 

นิกร ยังกล่าวต่อไปถึงประสบการณ์จัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ซึ่งรัฐบาลต้องมีสัญญากับประชาชนก่อน ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันนี้มีแล้วในคำแถลงนโยบาย คือ รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในเรื่องรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความประชาธิปไตยมากขึ้น ตีความได้ว่าเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะตั้งคณะทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมี ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งในขณะนี้ได้รับฟังความเห็นจากประชาชนทุกกลุ่มและทุกภูมิภาคแล้ว เหลือเพียงแต่สมาชิกรัฐสภา ซึ่งในวันที่ 13 ธ.ค. นี้ สมาชิกรัฐสภาจะทำแบบสอบถามความเห็นต่อประชามติ และในวันที่ 18-20 ธ.ค. นี้ จะรับฟังคำตอบ เพื่อสรุปความเห็นในวันที่ 22 ธ.ค. และวันที่ 25 ธ.ค. นายภูมิธรรม จะนัดประชุมคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ เพื่อหาข้อสรุป

หลังจากนั้น ช่วงเดือน เม.ย. ก็จะเริ่มทำประชามติครั้งแรก หรือหากมีพรรคการเมืองเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน และวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะเริ่มเร็วกว่านั้นได้ แต่ข้อที่เป็นห่วงคือ ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิถึง 26 ล้านคนหรือไม่ และมีผู้เห็นชอบรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 13.5 ล้านคนหรือไม่ ตามระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น ซึ่งวันพรุ่งนี้ (11 ธ.ค.) ตนเองจะเดินทางไปสอบถามแนวทางกับสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการทำประชามติบ่อยครั้งมาก

“ทั้งหมดนี้ ผมพูดในนามผู้ปฏิบัติหน้าที่ว่าเราจะทำให้จนได้ ด้วยความตั้งใจ จริงใจเต็มที่ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเป็นรูปธรรม” นิกร กล่าวทิ้งท้าย