มินอ่องหล่ายน์ ผู้ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปเมื่อ ก.พ.ปีก่อน ได้เดินทางเยือนรัสเซียมาแล้วกว่า 2 ครั้ง หรือครั้งล่าสุดเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ทุกครั้งก่อนหน้านี้ มินอ่องหล่ายน์กลับไม่เคยเข้าพบตัวต่อตัวกับปูตินมาก่อนเลย อย่างไรก็ดี ในวันนี้ (7 ก.ย.) มินอ่องหล่ายน์จะมีโอกาสเป็นครั้งแรกในการเข้าพบปูติน ในการประชุมรอบนอกของ Eastern Economic Forum (EEF) ซึ่งจัดขึ้นในเมืองวลาดีวอสตอค เมืองทางตะวันออกสุดของรัสเซีย
“การประชุมทวิภาคีระหว่าง วลาดิเมียร์ ปูติน และผู้นำต่างประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม EEF-2022 มีกำหนดการตลอดทั้งวัน โดยบรรดาผู้นำมีกำหนดการที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเฉพาะของวาระทวิภาคีและระดับภูมิภาค” สำนักข่าว TASS ของรัฐบาลรัสเซีย รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของสำนักประธานาธิบดีรัสเซีย
เมียนมาประสบกับวิกฤตครั้งใหญ่ของประเทศ นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อปีก่อน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากทั่วทั้งประเทศลุกฮือขึ้นประท้วงขับไล่กองทัพเมียนมา และเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่มือของประชาชน อย่างไรก็ดี กองทัพเมียนมาปราบปรามผู้ชุมนุมและกลุ่มกองกำลังต่อต้านไปแล้วอย่างน้อยกว่า 2,000 คน และผู้นำของกองทัพเมียนมายังคงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามแผนระดับภูมิภาค เพื่อยุติการใช้ความรุนแรง การคว่ำบาตรจากนานาชาติยังส่งผลให้เมียนมาถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ
การเข้าหารือระหว่างมินอ่องหล่ายน์กับปูติน จะเป็นภาพสะท้อนในการแสวงหาพันธมิตรของเผด็จการเมียนมา ในขณะที่รัสเซียเองก็ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกเช่นเดียวกัน หลังจากการเข้ารุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำนักข่าวเผด็จการเมียนมา The Global New Light รายงานภาพการหารือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมากับรัสเซีย ก่อนที่จะมีการเข้าพบปะกันของสองผู้นำด้วย
The Global New Light รายงานอีกว่า คณะผู้แทนของทั้งสองชาติหารือกันในเรื่อง “การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ในฐานะเพื่อนที่ดีระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและเมียนมา และกองทัพของทั้งสองชาติ” ก่อนเน้นย้ำว่าปี 2565 นี้เป็นโอกาสครบรอบ 75 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ การเจรจาดังกล่าวยังครอบคลุมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในวงกว้าง รวมถึงเที่ยวบินตรงระหว่างสองประเทศเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าน้ำมันและก๊าซ เมียนมายังได้ประกาศเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ตนมีแผนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากรัสเซียเพื่อบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนพลังงานในประเทศ
นอกจากนี้ อาวุธที่ได้รับการสนับสนุนมาจากทางรัสเซีย โดยเฉพาะอาวุธของกองทัพอากาศ ยังได้ถูกจัดส่งมายังเมียนมา ซึ่งพวกมันถูกนำมาใช้ในการปราบปราบกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) รวมถึงกองกำลังชนพื้นเมืองที่ลุกขึ้นสู้รบ เพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมาอีกด้วย
ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในเมียนมา ยังได้ชี้แจงกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อต้นปีนี้ว่า รัสเซียเป็นหนึ่งในสามรัฐที่จัดหาอาวุธให้เมียนมา นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร แม้ว่าจะมีการใช้อาวุธเหล่านั้นในการปราบปรามพลเรือนก็ตาม โดยนอกจากรัสเซียแล้ว ยังมีจีนและเซอร์เบีย ที่ขายอาวุธให้แก่เมียนมาเพื่อใช้ปราบปรามประชาชนด้วย
ที่มา: